กกต. 3 ก.พ.- กำชับ กกต.จังหวัดแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ยึดแนวทางกฎหมาย พร้อมประกาศรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งจังหวัดที่มี ส.ส.คนเดียว ให้ใช้รูปแบบเดิม แต่ต้องประกาศรับฟังความคิดเห็น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจง หลังออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวน ส.ส.และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรก โดยให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.มากกว่า 1 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน
ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วย รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผุ้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น เว้นแต่ เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก นอกจากนี้ต้องมีเหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง
ในกรณีที่จังหวัดใดมีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต เท่ากับจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 และมีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น ไม่เกินจำนวนผลต่างที่กำหนดไว้ ให้จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเมื่อปี 2562 และประกาศรับฟังความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย
ให้ดำเนินการปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในกรณีจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิก ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน ให้ดำเนินการปิดประกาศเขตเลือกตั้ง ที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ .- สำนักข่าวไทย