ทำเนียบรัฐบาล 27 ม.ค.-นายกฯ ต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2565 ชื่นชมผลงานที่ถือเป็นคุณูปการที่สำคัญยิ่งต่อวงการแพทย์และสาธารณสุขโลก แสดงถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการศึกษาวิจัย และพัฒนาวิทยาการทางการแพทย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2565 จำนวน 3 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (Professor Ralph A. DeFronzo) นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี (Dr. Douglas R. Lowy) และ ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ (สหรัฐอเมริกา) โดยมีนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และน.ส.แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทยร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งผลงานถือเป็นคุณูปการที่สำคัญยิ่งต่อประชากรโลก วงการแพทย์และสาธารณสุขโลก พร้อมชื่นชมอย่างยิ่งในความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการศึกษาวิจัย และพัฒนาวิทยาการทางการแพทย์ จนนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ในการรักษาและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศต่าง ๆ กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและรักษาโรคไม่ติดต่อในระยะยาวมีความสำคัญยิ่งขึ้น
“ขอบคุณและชื่นชมศาสตราจารย์นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (ชาวอเมริกัน) สำหรับความสำเร็จในการศึกษาและพัฒนาแนวทางการรักษาและวิธีป้องกันโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตผู้ป่วยเบาหวานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานมาโดยตลอด และขอขอบคุณนายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี่ (ชาวอเมริกัน) กับ ดร.จอห์น ที. ซิลเลอร์ (ชาวอเมริกัน) สำหรับการค้นพบแนวทางใหม่ในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง จากการค้นพบกลไกที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านไวรัส HPV ที่มีประสิทธิภาพสูง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายเน้นให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและการรักษาโรคไม่ติดต่อในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการรักษาให้แก่ประชาชนอย่างครอบคลุม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอร่วมเป็นกำลังใจในการสร้างสรรค์ ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้และความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป ความสำเร็จของท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพและสาธารณสุข และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านผู้รับพระราชทานรางวัล แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรี โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ ดีฟรอนโซ หวังว่าจะได้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ผ่านโครงการอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่นายแพทย์โลวี่ กล่าวชื่นชมแพทย์และสาธารณสุขไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้มีความทันสมัย และประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างครอบคลุม
ขณะที่เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ตระหนักถึงความสามารถของนักค้นคว้าและวิจัย โดยทั้งสหรัฐฯ และออสเตรเลียต่างมีความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่ใกล้ชิด และก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อประชาชนสอง โดยต่างยังมีศักยภาพในการขยายความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและสาธารณสุขระหว่างกันได้อีกมาก
ทั้งนี้ ในปี 2565 มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จำนวน 4 ราย ได้แก่ สาขาการแพทย์ ได้แก่ (1) ศาสตราจารย์นายแพทย์ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (Professor Ralph A. DeFronzo) สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ (2) นายแพทย์ดักลาส อาร์. โลวี (Dr. Douglas R. Lowy) (3) ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ (สหรัฐอเมริกา) และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ (4) ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ (สหราชอาณาจักร/ออสเตรเลีย) (Ian H. Frazer, MB.ChB., M.D.).-สำนักข่าวไทย