รัฐสภา 22 ธ.ค.- “ยุทธพงศ์” จี้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบ ร.ล.สุโขทัย อับปาง ยังไม่เห็นลงพื้นที่ ด้าน “พล.อ.ชัยชาญ” ยันนายกฯ ติดตาม-สั่งการใกล้ชิด ย้ำก่อนออกลาดตระเวนประเมินขีดความสามารถเรือแล้ว
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณากระทู้ถามสด โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมีพลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายให้ตอบคำถามแทน
โดยนายยุทธพงศ์ ระบุว่า ขอตั้งคำถามไปถึงการแต่งตั้งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้มาดำรงตำแหน่งหรือมีความรู้เป็นศูนย์ ทำให้การทำงานออกมา “ห่วยแตก” และจนถึงขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็น จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีไปเช็คบิลเรื่องนี้ เพราะนอกจากเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางแล้ว ยังมีเรือพาณิชย์และเรือประมงอีกหลายลำอับปางเช่นกัน นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร และเพราะเหตุใดตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรีจึงยังไม่ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง
ด้านพลฟ.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ กองทัพเรือเป็นส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางทะเล ซึ่งก่อนจะส่งเรือหลวงสุโขทัยออกปฏิบัติการ ได้ประเมินขีดความสามารถและศักยภาพของเรือแล้ว แต่ด้วยสภาพอากาศ จึงทำให้เรือหลวงสุโขทัยประสบเหตุขึ้น
“นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์และสั่งการมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตและความปลอดภัยของกำลังพล ซึ่งหลังจากวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่สัตหีบ กองทัพเรือภาค 1 เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจครอบครัวกำลังพล และให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน และสั่งการให้ทุกเหล่าทัพระดมสรรพกำลังช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้มีเรือเข้าไปในพื้นที่จำนวน 8 ลำ นอกจากนี้ ยังมีเฮลิคอปเตอร์และอากาศยานจากกองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการแบ่งพื้นที่ให้ละเอียดมากขึ้น เพื่อค้นหากำลังพลที่ยังสูญหาย และย้ำว่า นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว
นายยุทธพงศ์ ถามต่อว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นชนิด MTU ของจีน เมื่อน้ำเข้า จึงทำให้เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าดับ และระบบต่าง ๆ ของเรือดับไปด้วย เรือจึงไม่มีกำลังที่จะฝ่ากระแสคลื่น เรือที่อยู่บนน้ำ เกิดความสูญเสียกับเครื่องยนต์ขนาดนี้ แล้วเรือดำน้ำ กองทัพเรือยังจะใช้เครื่องยนต์ของจีนอีกหรือไม่
พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า ขณะนี้กองทัพเรือยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้เครื่อง MTU ที่ผลิตจากจีนหรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือมีคณะกรรมการศึกษารายละเอียด ประสิทธิภาพ และจะไปดูเรื่องโรงงานผลิต เพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมิน เพื่อให้ได้เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาใช้ในเรือดำน้ำ โดยเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2566 คณะกรรมการมีกำหนดการจะเดินทางไปโรงงานผลิตที่ประเทศจีน ยืนยันว่ากองทัพเรือจะใช้งบประมาณโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและความปลอดภัยของกำลังพลให้ปฏิบัติภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด.-สำนักข่าวไทย