กรุงเทพ 25 ก.ย.-โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลยินดีที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่โรคฝีดาษวานรลดลง สะท้อนศักยภาพสาธารณสุขไทย พร้อมปรับมาตรการและแนวทางการควบคุมโรคให้สอดคล้องตามสถานการณ์
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkey pox) ซึ่งยินดีที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ทั้งในประเทศและทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอปรับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษวานร จากเดิมเฝ้าระวังในระดับกระทรวง ปรับลงเหลือเพียงระดับกรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของพี่น้องชาวไทย โดยได้ติดตามการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งในกรณีของโรคโรคฝีดาษวานร กรมควบคุม กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operations Center: EOC) เพื่อเฝ้าระวังในระดับกรม ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 และเมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) รัฐบาลได้เตรียมแนวทาง และยกระดับศูนย์ EOC เป็นระดับกระทรวง ส่งผลให้การสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง กรมควบคุม กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในช่วงแพร่ระบาดสูงสุดทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1 พันรายต่อวัน แต่ขณะนี้เหลือเฉลี่ย 580 รายต่อวัน โดยประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานร รวม 8 ราย ในระยะเวลา 4 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 2 ราย โดย 3 ใน 7 ราย มีประวัติแสดงอาการก่อนเดินทางกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งการติดต่อมีปัจจัยหลักมาจากการสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่พบการแพร่เชื้อต่อแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย และผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จึงเสนอปรับลดระดับศูนย์ EOC โรคฝีดาษวานร จากระดับกระทรวงกลับมาเป็นระดับกรมตามเดิม
“รัฐบาลได้เฝ้าระวังและติดตามการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษวานร โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางการทำงานตอบโต้ต่อสถานการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมทั้งปรับมาตรการและแนวทางการควบคุมโรคให้สอดคล้องตามสถานการณ์ ทำให้แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยของทั้งสองโรคลดจำนวนลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษวานรยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยหากพบผู้ป่วยต้องสงสัยจำเป็นต้องรายงานและมีการสอบสวนโรค จึงขอให้พี่น้องประชาชน โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยังคงติดตามและรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรต่อไป” นายอนุชา กล่าว .-สำนักข่าวไทย