ฉะเชิงเทรา 1 ก.ย.65 – “พล.อ.ประวิตร” ลุยเมืองแปดริ้ว สั่งป้องกันน้ำท่วม เร่งผลิตน้ำประปาสะอาดทุกพื้นที่เพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อประชาชน
วันนี้ (1 ก.ย. 65) เวลา 9.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางปะกง การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมอบนโยบาย ณ สถานีผลิตน้ำประปาฉะเชิงเทรา โดยมีดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอสถานการณ์น้ำภาพรวมและในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมการบริหารจัดน้ำที่คลองนครเนื่องเขต (คลองท่าไข่)
พลเอก ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน และปัญหาน้ำเค็มรุกเป็นประจำในช่วงฤดูแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงจังหวัดต่างๆ ในลุ่มน้ำบางปะกง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยต้องร่วมกันประเมินสถานการณ์ เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อม เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนอีก 2 เดือนจากนี้ (เดือนก.ย.-ต.ค.) ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกัน ต้องหาแนวทางแก้ไขให้เป็นระบบในระยะยาวควบคู่ไปด้วย เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต โดยได้มอบหมายให้ สทนช. ประสานและบูรณาการขับเคลื่อนแผนหลักการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ร่วมกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และรายงานต่อ กนช. พร้อมมอบให้กรมชลประทานเร่งพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนโดยเฉพาะโครงการที่ได้รับงบประมาณ และโครงการสำคัญที่ผ่าน กนช. แล้ว รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มความสามารถการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทดน้ำบางปะกง เร่งดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำที่ได้รับงบประมาณให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค ให้วางแผนการใช้น้ำให้ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งอย่างเพียงพอ พร้อมหาแหล่งน้ำสำรองไว้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค.นี้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น การลงพื้นที่ในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ อาทิ เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนนฤบดินทรจินดา ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ระดับเก็บกักสูงสุดที่จะต้องมีการบริหารจัดการให้สามารถรองรับปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกลงมาเพิ่มในระยะต่อไปด้วย – สำนักข่าวไทย