รัฐสภา 23 ส.ค.- “ชินวรณ์” เผยมติวิปรัฐบาลให้พรรคร่วมรัฐบาลเช็คองค์ประชุมให้พร้อม ประชุมร่างกม.งบฯ66 ครั้งที่ห้า หวั่นประชุมล่มอีก รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ต่อเนื่องในวาระสอง เป็นครั้งที่ 5 วันนี้( 23 ส.ค.) เวลา 13.00 น.ว่า วิปรัฐบาลขอความร่วมมือจากทุกพรรคร่วมรัฐบาลให้เช็คองค์ประชุมของแต่ละพรรคให้พร้อมเพรียงตั้งแต่การเปิดประชุม เพราะเมื่อเปิดประชุมแล้วจะต้องลงมติทันที นอกจากนี้ ในการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้มอบหมายให้นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลและนายอรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขาวิปรัฐบาล เป็นผู้ประสาน
“วิปรัฐบาล ยืนยันแนวทางว่า จะต้องเดินหน้าพิจารณาวาระสองให้แล้วเสร็จและลงมติเห็นชอบในวาระสามให้ได้ แต่จะลงมติได้ในช่วงเวลาใดนั้น ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือของส.ส.ที่จะลดอภิปรายในเนื้อหา เพื่อให้ผ่านมาตราหากไม่ใช่มาตราหลักได้อย่างรวดเร็ว เบื้องต้นทราบว่า แต่ละมาตรามีผู้ที่ยื่นรายชื่ออภิปรายต่อมาตรามีไม่เกิน 5 คน แต่การอภิปรายพบว่าส.ส.ที่ไม่ได้แปรญัตติหรือสงวนความเห็นขอเวลาอภิปรายด้วยทำให้การอภิปรายยืดเยื้อออกไป” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ ย้ำว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ จะปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลยืนยันชัดเจนว่า ให้การประชุมไปจนถึงลงมติวาระสาม แต่หากลงมติแล้วองค์ประชุมไม่ครบ ฝ่ายรัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะเป็นกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเงิน แต่ในกรณีดังกล่าว ตนมองว่าฝ่ายค้านต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณจะพิจารณาเสร็จตามเวลา และไม่ควรนำประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลได้หารือถึงประเด็นความเป็นไปได้ที่นายกฯต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องวาระ 8 ปีหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุการณ์นั้น และแม้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่กระบวนการของสภาฯ ยังเดินหน้าไปได้ เพราะตามกระบวนการหากร่างกฎหมายงบประมาณผ่านวาระสามแล้ว เงื่อนไขของสภาก็หมดไป ส่วนการยุบสภานั้น ตนมองว่าไม่มีเงื่อนไขที่นำไปสู่จุดนั้น เช่น ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหาร กับ ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นสภาฯต้องทำหน้าที่ต่อไป เพราะขณะนี้มีร่างพ.ร.บ.ที่รอสภาพิจารณา 10 ฉบับ และมีร่างกฎหมายที่ค้างในกรรมาธิการ 15 ฉบับ รวมถึงร่างกฎหมายที่รอการประชุมร่วมรัฐสภา 7 ฉบับ.-สำนักข่าวไทย