สำนักข่าวไทย 25 พ.ย. 63 – “มณฑป” อ่านว่า มน-ดบ หรือ มน-ทบ กันแน่ โอ๊ย…สับสนไปหมดวันนี้น้องจุกมีเฉลยพร้อมคำอธิบายมาฝากทุกคนคร้าบ
“มณฑป” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามไว้ว่า มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต เป็นคำนาม หมายถึง เรือนเครื่องยอดขนาดใหญ่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาเป็นทรงจอมแห ประกอบด้วยชั้นเชิงกลอนหลายชั้นเป็นต้น
มณฑป อ่านว่า มน-ดบ
มาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่า อ้าว…ตัว “ฑ” เราออกเสียงอย่าง “ท” แล้วทำไมอ่านว่า ดบ นั่นเพราะว่า
ตัว “ฑ” ในภาษาบาลีและสันสกฤตนั้นจะอ่านออกเสียงเป็น “ด” มีเสียงขึ้นนาสิก แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย จะออกเสียงในการอ่านได้ 2 แบบ
1. อ่านเป็นเสียง “ด” ตามวิธีการของภาษาบาลีและสันสกฤต มักเป็นคำที่มีเสียงสั้นหรือเป็นคำตาย เช่น คำว่า บัณฑิต มณฑป บัณเฑาะว์
2. อ่านเป็นเสียง “ท” ตามวิธีการอ่านของภาษาไทย มักเป็นคำที่มีเสียงยาวหรือ คำเป็น เช่น คำว่า มณโฑ มณฑล ขัณฑสกร
สรุปได้ว่า “มณฑป” อ่านว่า “มน-ดบ” เนื่องจากเป็นคำตาย นะคร้าบ แล้วพบกันใหม่กับน้องจุกและคำไทยใช้อย่างไรนะครับ สวัสดีครับ.-สำนักข่าวไทย