สำนักข่าวไทย 4 ธ.ค. 63 – ประสบการณ์ หรือ ประสพการณ์ คำในภาษาไทยที่หลายคนมักเกิดความสับสนและคงจะเคยเห็นผ่าน ๆ ตากันมาทั้งสองคำ แต่รู้ไหมครับว่าคำไหนคือคำที่ถูกต้องและมีความหมายตรงกับคำว่า experience ในภาษาอังกฤษ ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กับน้องจุกเลยครับ
เฉลย
คำที่ถูกต้องคือ “ประสบการณ์” นะครับ
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามไว้ว่า ประสบการณ์ อ่านว่า ปฺระสบกาน เป็นคำนาม หมายถึง ความจัดเจนที่เกิดจากการกระทำหรือได้พบเห็นมา. เป็นศัพท์บัญญัติ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า experience
อ้าว…แล้วที่บางคนเคยได้ยิน หรือเคยเห็นคำว่า “ประสพการณ์” ล่ะ มีความหมายไหม?
คำว่า experience ในภาษาอังกฤษนี้ เดิมคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ บัญญัติไว้ว่า “ประสพการณ์” อ่านว่า “ปฺระ-สบ-พะ-กาน” แต่เมื่อกระทรวงศึกษาธิการส่งศัพท์บัญญัติเหล่านั้นมาให้คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถานรับรอง คณะกรรมการได้แก้ศัพท์บัญญัติคำนี้เป็น “ประสบการณ์” ที่ “ประสบ” ใช้ บ สะกด อ่านว่า “ปฺระ-สบ-กาน”
คำว่า “ประสพ” นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามว่า เป็นคำนาม หมายถึง การเกิดผล หากเขียนเป็น “ประสพการณ์” โดยใช้ พ สะกดก็จะต้องแปลว่า “เหตุแห่งการเกิดผล” ซึ่งจะไม่ตรงกับความหมายของคำว่า experience ในภาษาอังกฤษ
ถ้า “ประสพ” มีความหมายเหมือน “ประสบ” ทำไมจึงใช้ต่างกัน
คำว่า “ประสพ” นั้นตรงกับคำบาลีว่า “ปสว” (ปะ-สะ-วะ) แปลว่า “ประสบ ประสูติ เสวย” หรือแปลว่า “ดอกไม้ ลูกไม้” ก็ได้ และตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ปฺรสว” (ปฺระ-สะ-วะ) แปลง ว เป็น พ ก็เป็น “ประสพ”
แต่เพราะคำว่า “ประสพ” มีความหมายได้หลายอย่างด้วยกัน ถ้าเราเขียนเป็น “ประสพการณ์” จะทำให้ตีความไปได้หลายความหมาย จึงใช้ “ประสบ” บ สะกด ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “สบ” ในภาษาไทยที่แปลว่า “พบ เช่น สบโชค ปะ เช่น สบเหมาะ ถูก เช่น สบใจ”
สรุป
คำว่า experience ในภาษาอังกฤษ ถ้าจะนำมาใช้ในภาษาไทย ต้องเขียนว่า “ประสบการณ์” นะคร้าบ แล้วพบกันใหม่กับคำไทยใช้อย่างไรและน้องจุกนะครับ สวัสดีครับ.-สำนักข่าวไทย
ที่มา จำนงค์ ทองประเสริฐ. ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. 2528. หน้า 340-342