สำนักข่าวไทย ก.ย. – เรื่องราวการเผชิญวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยล้มทั้งยืนเพราะป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว จนต้องลาออกจากงานที่รัก มาขับแท็กซี่ ขับได้เพียงเดือนเดียวก็เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ รถที่เริ่มผ่อนพังยับเยินพร้อมหนี้สินอีกหลายแสนบาท เธอกัดฟันสู้อีกครั้ง แต่ก็เกิดมรสุมลูกใหม่จากโรคโควิด-19 … วันนี้เธอยืนขึ้นได้อีกครั้งอย่างมั่นคงกว่าเดิม และพร้อมแบ่งปันแรงบันดาลใจให้กับสังคม
ย้อนกลับไปเมื่อกลางปีที่แล้ว โลกโซเชียลพากันชื่นชม “แก้ว” น.ส.วรรณกวี อยู่วัฒนา อายุ 37 ปี สาวอักษรฯจุฬา ที่ตัดสินใจลาออกจากงานเบื้องหลังกองถ่าย มาขับรถแท็กซี่ แม้จะเรียนจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาศิลปการละคร
ทำงานหนักจนเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว
คุณแก้วเล่าว่าจุดพลิกผันของชีวิตเกิดขึ้นเมื่ออายุเพียง 25 ปี ขณะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครเวที เมื่อวันหนึ่งเกิดล้มกลิ้งตกบันไดหลังเวที ขยับตัวไม่ได้ แพทย์ตรวจพบเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วจากการทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียดสะสม หากฝืนทำงานแบบเดิมก็คงไม่ไหว
“ช่วงนั้นวิกฤติที่สุด รู้สึกล้มเหลว จิตตก ร้องไห้เป็นเดือน ไม่รู้จะทำยังไง สมองสั่งการแต่ร่างกายไม่ทำตาม ไม่มีแรง เหมือนคนถูกขังอยู่ในห้องแคบๆมองไม่เห็นอะไรเลย เพราะยึดติดว่าต้องทำละครเท่านั้นถึงจะมีคุณค่า”
ช่วงนั้นได้ลาออกจากงานผู้ช่วยผู้กำกับ แต่ยังคงวนเวียนทำงานตามความรู้ที่เรียนมา ทั้งดูแลโรงละคร ดูแลนักแสดง ประสานงาน เลขาฯผู้บริหาร แต่สุขภาพก็ทรุดลงอีก จึงต้องออกมาเป็นฟรีแลนซ์ หางานที่อิสระทำ ได้ปรึกษาคุณแม่ที่ขับรถแท็กซี่อยู่และขอลองขับ วันแรกถ่ายรูปคู่กับรถแท็กซี่ลงโซเชียล เพื่อนได้นำไปแชร์ จนกลายเป็นกระแสโซเชียล
ออกรถแท็กซี่เพียงเดือนเดียว เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่
กระแสในโลกโซเชียลทำให้มีลูกค้าประจำจองคิวเต็ม จากที่ตั้งใจจะขับเป็นอาชีพเสริม ก็ตัดสินใจซื้อรถแท็กซี่เลย ทุกอย่างกำลังไปได้ดี แต่ในวันครบรอบออกรถ 1 เดือน วันนั้นเป็นวันศุกร์แห่งชาติ ฝนตกหนัก น้ำท่วมกรุงเทพฯ รถติดทั้งวันจนเบลอ ไม่รู้ตัวว่าขับไปชนท้ายรถอีกคัน รถเราพังยับ ขับต่อไม่ได้ มีหนี้ก้อนโตที่ต้องผ่อนรถต่อไป
“แม่บอกให้เลิกขับแท็กซี่ ก็รู้สึกจิตตกอีกจนเหมือนจะเป็นซึมเศร้า แค่ขึ้นรถแท็กซี่ก็อาเจียน ขับต่อไม่ได้ ตามองไม่ชัด บ้านหมุน ต้องหยุดพักขับรถไปถึง 1 เดือน”
วิกฤติโควิดทำลูกค้าหดหาย
จากนั้นตัดสินใจสู้อีกครั้ง โดยถือเป็นช่วงขาขึ้น รายได้ดี มีลูกค้าประจำจองคิวเต็ม เลยซื้อรถอีกคันมาใช้แทนคันที่ขับไปชน ส่วนรถของแม่ก็ยังต้องผ่อน รวมค่าผ่อนรถเดือนละเกือบ 5 หมื่น ครั้งนี้ออกรถเดือนกุมภาพันธ์ 63 พอเดือนมีนาคม โควิด-19 ก็ระบาดเข้ามา มีการชัตดาวน์ประเทศ ปิดโรงเรียน ยุติกิจกรรมต่างๆ ทำให้ลูกค้าหายหมด เพราะหลักๆคือรับส่งคนไทยไปสนามบิน รับส่งนักเรียน พาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาล ไปทำบุญ
ยืนได้อีกครั้งอย่างมั่นคง
วิกฤติครั้งนี้ต้องตั้งสติ คิดหาทางลดรายจ่ายเพิ่มรายรับ โชคดีได้เข้าโครงการผ่อนพักชำระหนี้แท็กซี่ และได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 5,000 บาท ก็พออยู่ได้ ระหว่างนั้นติดต่อเพื่อนจุฬาฯที่ทำเรือประมง ซึ่งเดือดร้อนเช่นกัน เพราะร้านอาหารปิด สินค้าอาหารทะเลตกค้างจำนวนมาก จึงลองทำการตลาดขายออนไลน์ในกลุ่มจุฬาฯมาร์เก็ตเพลสที่มีสมาชิกกว่า 2 แสนคน ผลปรากฏว่าประสบความสำเร็จเกิดคาด ได้ยอดขายถึง 2 แสนบาทต่อเดือน จากนั้นก็เพิ่มสินค้าน้ำพริกและขนมหวาน พร้อมทั้งโพสต์หาผู้โดยสารในกลุ่มจุฬาฯไปด้วย ก็ได้รับเสียงตอบรับดี ลูกค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนโควิดเสียอีก ทำให้มีรายได้หลายทาง
ส่งต่อแรงบันดาลใจ ตั้งกลุ่มคนขับแท็กซี่ผู้หญิง
ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการคนขับรถที่เป็นผู้หญิง ให้รับส่งลูกหลาน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือคนในครอบครัว อาชีพขับแท็กซี่จึงไม่ได้หมายถึงการรับส่งเท่านั้น แต่มีความไว้วางใจ ความเป็นครอบครัวอยู่ด้วย “ลูกค้ากลุ่มนี้มีเยอะมาก ต้องการคนพาแม่ไปโรงพยาบาล พาลูกไปโรงเรียน ช่วยดูแลปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านคนเดียวขับรถไม่ได้ บางคนเรียกเราไปนั่งทานข้าวเพื่อให้รับฟัง เป็นเพื่อน เหมือนเราได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ทำให้เขามีความสุข ก็รู้สึกภูมิใจ”
จุดนี้เองเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้มีแนวคิดจะรวมตัวผู้หญิงที่อยากขับรถแท็กซี่ เป็น community lady taxi ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการคนขับผู้หญิง และช่วยเหลือสังคมได้
“มีผู้ใหญ่ใจดีชวนทำโครงการแท็กซี่ไฟฟ้า Beta EV Lady Taxi บริการรับส่งลูกหลานไปโรงเรียน รับส่งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้หญิงท้องไปโรงพยาบาล โดยจะทดลองเป็นเวลา 2 เดือน (ก.ย.-ต.ค.63) และมีจิตอาสาอีก 3 ท่านเป็นเภสัชกร คุณหมอ และวิศวกร มาช่วยกันขับแท็กซี่ไฟฟ้าฟรี เพื่อทดลองเรื่องพลังงานสะอาด และเปิดรับสมัครผู้หญิงมาขับแท็กซี่ คัดเลือก อบรม 200 คนแรก น่าจะเป็นอาชีพใหม่ทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้หญิง”
อุปสรรคมีไว้ให้ข้ามผ่าน ถ้าไม่ล้มก็ไม่มีวันนี้
คุณแก้วบอกว่าชีวิตที่ผ่านมา ล้มบ่อย ล้มแล้วลุกอยู่ตลอดเวลา เหนื่อยก็พัก ลุกขึ้นมาใหม่ อุปสรรคที่ควบคุมไม่ได้เช่นสุขภาพ ก็ต้องข้ามไปให้ได้ สู้ให้ชีวิตไปต่อ อาจใช้เวลาต่างกัน วิถีทางต่างกัน ต้องกล้าที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ข้างหน้าอาจล้มอีกก็ได้ แต่จะไม่ล้มกลิ้ง แค่ล้มลงไปบนเบาะ ต้องปรับตัวตลอดเวลา มีหลายแผน ทำหลายอย่าง หาเงินไว้หลายๆกระเป๋า
มีคนส่งข้อความมาขอบคุณว่าเค้าได้กำลังใจจากการเห็นเราไม่ยอมแพ้ บางคนอยากเป็นแบบเราบ้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อยากบอกว่าไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร แค่อยากเอาตัวรอด สู้ในแบบของเรา และอยากขอบคุณคนที่ให้กำลังใจมาในช่วงที่ป่วย ท้อแท้ อยากให้เป็นกำลังใจกันแบบนี้ เหมือนเราไม่ได้สู้คนเดียว