กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสัปดาห์นี้เงินบาทยังแข็งค่า จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ มิ.ย.68 -มาตรการภาษีสหรัฐที่จะครบเส้นตาย 90 วัน -การเมืองในประเทศ มองกรอบค่าเงินบาท 32.00-32.80 บาท/ดอลลาร์ฯ คาดดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,100-1,100 จุด แนวต้านที่ 1,145 – 1,160 จุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 9 เดือน แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนท้ายสัปดาห์ หลังตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแข็งค่า ขณะที่ การฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ เป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากตลาดยังคงรอติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ กับอีกหลายประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเส้นตาย 9 ก.ค. นี้
ส่วนสัปดาห์นี้ ( 7-11 ก.ค. ) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.00-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 มิ.ย.นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของจีน รวมถึงสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ

ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ แต่ลดช่วงบวกลงช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนรอติดตามประเด็นนโยบายภาษีของสหรัฐ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข้อสรุปของการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐ ประกอบกับต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสัปดาห์นี้ (7-11 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยจำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุดขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,145 และ 1,160 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของไทย ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะครบกำหนดระยะผ่อนผันในวันที่ 9 ก.ค. สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. บันทึกการประชุมเฟด (17-18 มิ.ย.) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.ของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิ.ย. ของจีน.-516-สำนักข่าวไทย