กรุงเทพฯ 11 มิ.ย.- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตที่ 1.4% เสี่ยงเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งการส่งออก-นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงที่ 0.3% ชี้ใกล้ครบเส้นตายชะลอภาษีนำเข้า 90 วัน แต่เจรจาสหรัฐยังไม่คืบ ประเมินหากสหรัฐคงภาษีที่ 10% ตลอดทั้งปี คาดส่งออกไทยขยายตัวที่ 0.5% และเศรษฐกิจไทยโต 1.8% ค่าเงินบาทยังผันผวนมีโอกาสแตะ 32 บาท/ดอลล่าร์ คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และChief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายด้านภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลกระทบต่อภาคการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยล่าสุดOECD ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ลง 0.2 % มาอยู่ที่ 2.9% และปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง 0.6% เหลือ 1.6% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งด้านการค้า การเงิน การคลัง การศึกษา และการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงิน เสถียรภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงกว่า 8% นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากร และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี2568 ลงมาอยู่ที่ 0.3% และคาดว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าที่ระดับ 32 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐใน 3-6 เดือน และอาจยาวไปถึงสิ้นปึ

สำหรับมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่จะสิ้นสุดการชะลอลงในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง มองว่า ขณะนี้การเจรจาของไทยยังไม่คืบหน้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตที่ 1.4% และเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม หากอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในหลายประเทศยังคงไว้ที่ระดับ 10% ตลอดทั้งปี คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่ 0.5% และเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มเติบโตได้ 1.8% แต่ถ้าหากไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% จะส่งผลต่อการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ติดลบ รวมถึงจีดีพีอาจจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ภาษีสหรัฐฯ ที่ไม่ชัดเจนจะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากความเสี่ยงการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรกล เหล็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงการแข่งขันในประเทศกับสินค้านำเข้า โดยคาดว่าสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคต่อยอดขายของธุรกิจค้าปลีกปี 2568 จะอยู่ที่กว่า 30% และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวลึกขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่ -1.7% YoY เทียบกับ -1.0% YoY ในช่วงครึ่งปีแรก จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด ขณะที่รายได้ภาคเกษตรไทยมีแนวโน้มหดตัวจากแรงกดดันทั้งด้านราคาและความต้องการสินค้าเกษตรที่ลดลง รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรโลก
ด้านสภาวะการระดมทุนของภาคเอกชนว่ายังอ่อนแอต่อเนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลง การชำระคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสถาบันการเงินที่ยังคงกังวลเรื่องปัญหาหนี้เสีย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ลงมาที่ -0.6% จากเดิมที่ 0.6% ในขณะเดียวกัน มองว่า เอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้น แม้ว่าตัวเลขอาจไม่เกิน 3% ต่อสินเชื่อรวม โดยสถาบันการเงินจะยังคงพยายามเร่งจัดการหนี้เสีย และหนี้ที่เริ่มมีวันค้างชำระ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และการขายหนี้เสียออกไป เป็นต้น
ขณะที่กิจกรรมด้านESG ของภาคเอกชนไทยก็ชะลอลงเช่นกัน ท่ามกลางหลายปัจจัยลบ การออกหุ้นกู้ Sustainable Finance ลดลง โดยส่วนหนึ่งเปลี่ยนมาเป็นการใช้บริการสินเชื่อสีเขียวจากธนาคารพาณิชย์ ที่ข้อมูลเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อสีเขียวในปีนี้ จะยังคงขยายตัวค่อนข้างสูง โดยกลุ่มที่ยังระดมทุนอยู่เน้นไปที่ธุรกิจรายใหญ่ผ่านโครงการ Project Finance ที่มีแผนการระดมทุนอยู่แล้ว ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีคงเลือกชะลอแผนไปก่อน หรือเน้นลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel), การประหยัดพลังงาน หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เห็นความคุ้มค่าค่อนข้างชัดเจนในระยะสั้น
นายบุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ภาครัฐควรเน้นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเน้นมาตรการระยะสั้นที่ยังมีความจำเป็น แต่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับมาตรการระยะยาวเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วย ส่วนมาตรการเยียวยาเฉพาะหน้า เพื่อลดแรงกระแทกให้กับผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบเรื่องภาษีสหรัฐฯ คงต้องมุ่งสนับสนุนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตในประเทศ รวมทั้งเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวและกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวหลัก ขณะที่ คำแนะนำสำหรับธุรกิจ คือ การรักษากระแสเงินสด เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง.-516-สำนักข่าวไทย