ก.มหาดไทย 4 เม.ย.-“อนุทิน” ระบุยังไม่สรุปสาเหตุตึก สตง. ถล่ม บอกต้องรอตรวจสอบเชิงลึก ชี้สภาพหน้างานตอนนี้ยังเก็บหลักฐานไม่ได้ อยู่ระหว่างกู้ภัย คาดใช้เวลาอีกเป็นเดือน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประชุมกับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)แห่งใหม่ ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ภายกลังตั้งคณะกรรมการฯ ครบ 7 วัน
นายอนุทิน กล่าวว่า ได้ครบหนึ่งสัปดาห์ตามกรอบที่ได้วางไว้ว่าจะหาสาเหตุตึกถล่ม เราใช้เวลา 7 วัน โดยสภาพหน้างานที่ต้องทำงาน และการค้นหาผู้เสียชีวิต ซึ่งในการเก็บตัวอย่างวัสดุไปทดสอบนั้น ยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นการหาสาเหตุที่ตึกถล่ม ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะมีเรื่องความเป็นธรรมของทุกฝ่ายด้วย
”สาเหตุเบื้องต้น ที่เป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป ในทางวิศวกรรมก็ต้องดูที่เรื่องแบบ ซึ่งจะต้องใช้เวลา ในการวิเคราะห์เชิงลึกและทำโมเดลขึ้นมา ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก เพื่อความมั่นใจ“ นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ที่คณะกรรมการเข้ามาชี้แจงเพราะเข้ามาแจ้งว่า ขอให้มั่นใจว่า การออกแบบตึกในประเทศไทยมีการเผื่อค่ารองรับแผ่นดินไหว ค่าสั่นสะเทือนต่างๆ ซึ่งตั้งเกณฑ์ไว้สูงมาก ดังนั้นทุกอาคารที่อยู่ในประเทศไทยตอนนี้ มีความทนต่อแผ่นดินไหวที่เกิดจากเมียนมาได้ ส่วนผลก็ยังรอผลเพิ่มเติมอีกสักนิดนึง แต่คิดว่าน่าจะเป็นหลักเดือน เพราะการตรวจสอบเชิงวิชาการ เชิงวิศวกรรม ในเรื่องของการหาสาเหตุ
“การออกแบบตึกนี้ คอลิฟท์แทนที่จะอยู่ตรงกลาง ก็ไปอยู่ข้างหลัง ซึ่งมันอาจเกิดแรงบิดได้ เพราะฉะนั้นการใส่เซฟตี้แฟ็กเตอร์ (อัตราส่วนความปลอดภัย) ก็ต้องดูว่าเค้าใส่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ก็เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ออกแบบด้วย เพราะถ้าไปบอกว่าใส่ไม่พอ บริษัทเขายุ่งเลยนะ เพราะฉะนั้นก่อนจะกล่าวหาใคร ก็ต้องไปคำนวณ ดูการออกแบบ และใส่เสร็จเซฟตี้แฟ็กเตอร์มาถูกต้องหรือไม่ การต่อต้านแรงบิดแรงเฉิน ทุกแรงที่มีได้ทำถูกหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ใช้เวลานานเป็นเดือน” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนเรื่องเยียวยาป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ได้แจ้งอธิบดี ปภ. ไปว่าต้องไปหาการยกเว้นหลักเกณฑ์ เพราะในข้อกฎหมายปัจจุบันหากเสียชีวิตได้เงิน 29,000 บาท บาดเจ็บ ได้ 4,000 กว่าบาท พอได้ยินตัวเลข ก็สั่งการเลยว่าต้องหาวิธีเพิ่มเงินเยียวยาให้เหมาะสม เพราะถ้าใครฟังตัวเลขนี้ก็ไม่มีคำว่าเหมาะสม จึงต้องขอยกเว้นหลักเกณฑ์ โดยเรามีงบช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ อย่างกรณีน้ำท่วมเชียงราย บ้านเรือนที่เสียหายยังได้เงินชดใช้ประมาณ 50,000 บาทต่อครัวเรือน แล้วนี่เป็นคนก็ต้องได้มากกว่านี้ ซึ่งอธิบดี ปภ. ก็รับทราบแล้ว และหากถามใจตนก็คงอยากเติมศูนย์ให้อีกหลายตัว และเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับอธิบดีกรมบัญชีกลาง ไปบ้างแล้ว
ด้านนายธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา เราพยายามเก็บเก็บข้อมูลภาคสนามให้ได้มากที่สุด แต่ตอนนี้บางชิ้นส่วนที่เราต้องการ ยังไม่สามารถหยิบออกมาได้ และสิ่งต้องการจัดเก็บจริงๆ อย่างเช่น เหล็ก ก็ต้องอยู่ในเนื้อคอนกรีต ไม่ใช่เหล็กที่เราเหยียบย่ำจนเสียรูปไปแล้ว จึงได้แจ้งหน้างานไปว่าตรงไหนที่ยกออกมาแล้ว ขอเก็บไว้ตรงนั้นก่อน ณ เวลานี้ยังอยู่ในเรื่องของการรื้อและสืบค้น เพราะฉะนั้นบางส่วนจึงเอาลงมาไม่ได้ ก็ต้องใช้เวลา.-315.-สำนักข่าวไทย