กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เผยปี 2568 ลุยโตต่างประเทศต่อเนื่อง ทั้งในสหรัฐฯ จีน และอินโดนีเซีย ชี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ และนโนบายทรัมป์ 2.0 ดันกระแสเงินสดเพิ่ม พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030
นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า ปัจจุบัน BPP มุ่งสร้างสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Energy) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 40 แห่ง กำลังผลิตทั้งหมด 3.6 กิกะวัตต์ ตามสัดส่วนการลงทุน และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ จากโครงการก๊าซธรรมชาติภายในปี 2573 โดยเน้นประเทศยุทธศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งการสนับสนุนจากราคาพลังงานและความต้องการใช้พลังงานในสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาของ AI และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ทำให้คาดว่าราคาซื้อขายไฟล่วงหน้าในตลาด ERCOT สำหรับปี 2568 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2567 เกือบ 2 เท่าตัว อีกทั้งบริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) เพิ่มขึ้นจากปี 2567 กว่า 40% รวมถึงการเติบโตของกำไรของโรงไฟฟ้าในจีนจากต้นทุนถ่านหินที่คาดการณ์ว่าจะลดลง และรายได้จาก Carbon Emission Allowance ดังนั้นแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายพลังงานภายในประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน จากการที่บริษัทมีฐานการดำเนินงานในหลากหลายประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสริมสถานะการเงินที่แข็งแกร่งพร้อมรองรับการขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 4%-6% ต่อปี ในขณะที่กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ยังเติบโตต่อเนื่องโดยเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี และแม้ว่าปัจจุบันมีปัจจัยภายนอกที่ธุรกิจพลังงานกำลังเผชิญ เช่น นโยบายลดค่าไฟฟ้าในประเทศ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ และโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งที่จำหน่ายไฟฟ้าในไทยล้วนเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาว PPA ขณะที่ Global Minimum Tax (GMT) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 มีผลกระทบจำกัดต่อ BPP เนื่องจากในประเทศหลักที่เข้าไปลงทุน ทางบริษัทฯ มีการจ่ายภาษีในอัตราที่มากกว่า 15% อยู่แล้ว จึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้
“เราเชื่อว่าธุรกิจพลังงานจะยังคงมีเสถียรภาพค่อนข้างมาก เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนจำเป็นต้องใช้ รวมไปถึงเทรนด์พลังงานในอนาคตจะยิ่งเสริมให้ความต้องไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการทำกำไรในอนาคตของ BPP จะยังคงมีความยืดหยุ่นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด โดยบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน (Balancing Growth and Sustainability) ทั้งยังให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน” นายอิศรากล่าวปิดท้าย. -517-สำนักข่าวไทย