สุรินทร์ 20 ม.ค. – อากาศหนาวนาน ส่งผลดีให้กับเกษตรกรปลูกหัวผักกาดขาว หรือหัวไชเท้า จ.สุรินทร์ ทำให้ผลผลิตดี แปรรูปส่งขายสร้างรายได้งาม หลังฤดูเกี่ยวข้าว
เกษตรกรรวมกลุ่มกันเก็บเกี่ยวหัวไชเท้า หรือหัวผักกาดขาว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว เกษตรกรก็หันมาปลูกหัวไชเท้า เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง โดยไถแปลงนาและหว่านเมล็ดหัวผักกาดขาว ที่เป็นพืชระยะสั้น ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อถึงเดือนมกราคม ก็เก็บผลผลิตได้ ในพื้นที่เพียง 3 ไร่ ขายผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เนื่องจากหัวผักกาดปีนี้หัวใหญ่ได้ขนาด เปอร์เซ็นต์สมบูรณ์มากกว่าทุกปี แมลงหรือศัตรูพืชไม่ค่อยมี ไม่ต้องใช้ยาหรือสารเคมีใดๆ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพียงแค่ดูแลรดน้ำเป็นประจำ เพราะสภาพอากาศหนาวเย็นและแห้ง เหมาะกับการเพาะปลูกหัวผักกาด
นอกจากเก็บส่งขายสดๆ แล้ว เกษตรกรยังนำไปแปรรูปเป็นหัวผักกาดเค็ม หรือไชโป๊ โดยนำหัวผักกาดที่ตัดใบแล้ว ไปใส่ไว้ในหลุมที่ปูด้วยพลาสติก โรยด้วยเกลือทะเลในปริมาณที่เหมาะ ทำสลับกันเป็นชั้นๆ เมื่อหัวผักกาดเริ่มรัดตัวเปลี่ยนสีและแห้งลง ก็เปิดหลุมนำออกมาผึ่งลมผึ่งแดด แล้วนำลงหมักในหลุมกับเกลืออีก 5-6 รอบ จนกว่าหัวผักกาดจะฟีบเล็กและเค็มได้ที่
ส่วนน้ำหมักที่ขังอยู่ก้นหลุม มีความเค็มสูง นำไปรดโคนต้นมะพร้าว เพื่อบำรุงลูกมะพร้าว เนื่องจากดินส่วนใหญ่แถบอีสานมีความเปรี้ยว การนำน้ำเกลือหมักไปรด จะช่วยปรับให้ดินเกิดความเค็ม ผลผลิตมะพร้าวก็จะมีความหวานมันขึ้น
น.ส.กรรณสุรินทร์ ทรัพย์วงกรต ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย นำสมาชิกตัวแทนเกษตรกรในหลายภาค เยี่ยมชมแปลงและศึกษาวิธีเพาะปลูกหัวผักกาด บอกว่า หัวผักกาดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดี เกษตรกรในกลุ่มมีความสนใจอย่างมาก ดูแล้วรายได้ดีกว่าข้าวหรือมันสำปะหลัง และอยากให้รัฐบาลสนใจส่งเสริมมากขึ้น
นอกจากแปรรูปเป็นหัวผักกาดเค็ม เกษตรกรยังส่งขายโรงงานทำหัวผักกาดหวาน ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดสุรินทร์ จนเป็นหนึ่งในคำขวัญประจำจังหวัดสุรินทร์ ว่า “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม” โดยทางโรงงานเข้ามาส่งเสริมการปลูกผักกาดหวานอินทรีย์ พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยฟรีให้เกษตรกรด้วย รวมถึงวางอนาคตจะร่วมมือกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและแปรรูปหัวผักกาดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย