บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์คลิปเตือนว่า ต่อไปนี้คงต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช้หลอดดูดน้ำดื่มแล้ว เพราะนักวิจัยพบสารเคมี PFAS ในหลอดดูดแทบทุกชนิด ทั้งหลอดกระดาษ ไม้ไผ่ พลาสติก แก้ว ยกเว้นแค่หลอดสเตนเลสเท่านั้น แม้แต่ EU ก็สั่งยกเลิกแล้ว
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.บุศรินทร์ จงเจริญยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ และ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้อมูลในคลิปมีส่วนที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง
ส่วนที่เป็นความจริงก็คือ ในหลอดกระดาษมี PFAS อยู่จริง แต่ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่ทำให้สหภาพยุโรป (EU) ยกเลิกการใช้หลอดกระดาษ หรือหลอดพลาสติกแบบที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
สาเหตุที่ EU แบน หรือยกเลิกหลอดพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นเพราะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขยะที่เกิดจากการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-used plastic) ไม่ว่าจะเป็นจาน ช้อนส้อม มีด หรือแม้แต่หลอด เพราะฉะนั้น การใช้หลอดที่มี PFAS อยู่ แต่ใช้อย่างถูกประเภทตามที่ผู้ผลิตแนะนำ ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เพราะ PFAS ก็ยังมีใช้กันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
สาร PFAS คืออะไร ?
สาร PFAS ย่อมาจาก Per-and polyfluoroalkyl substances เป็นสารที่ fluoro กับ alkyl เชื่อมต่อกัน ซึ่งพันธะเคมีจะแข็งแรงมากจึงคงอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน
PFAS ถูกเรียกว่า “สารเคมีตลอดกาล” สารเคมีตัวนี้นำมาเคลือบกันน้ำ กันน้ำมัน และกันการติด
สาร PFOA : Perfluorooctanoic acid เป็นสารที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกับ PFAS เพราะเป็นสารกลุ่มเดียวกัน สามารถกันน้ำ กันน้ำมันได้ ไม่ทำให้ติดภาชนะ
หลอดกระดาษ ใช้สาร PFAS ด้วยหรือ ?
กระดาษมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมกับการใช้กับของเหลว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงคุณสมบัติโดยการเคลือบสาร PFAS กลุ่มนี้ เพื่อช่วยกันน้ำ กันน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังพบได้อีกหลายแหล่ง นอกเหนือจากหลอด คือกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการกันน้ำ กันน้ำมัน เช่น ถ้วยกระดาษ แก้วกระดาษ ชามกระดาษ จานกระดาษ เคลือบเฟอร์นิเจอร์ พรม ภาชนะต่าง ๆ มีการเคลือบกันน้ำไว้ และเครื่องสำอางที่บอกว่าเป็นกลุ่มกันน้ำก็มีโอกาสพบ PFAS อยู่ด้วย
ในอาหาร น้ำดื่ม ฝุ่นละออง ก็อาจมีการปนเปื้อนของสารกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อม มีความคงทนอยู่
งานวิจัยที่เก็บตัวอย่าง เกิดขึ้นในต่างประเทศ
สิ่งที่แชร์กันเป็นงานวิจัยต่างประเทศ เก็บตัวอย่างหลอดในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด 39 ตัวอย่าง แล้วนำมาทดสอบ ผลปรากฏว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่าง มีสาร PFAS อยู่
ตัวอย่างที่เก็บ มาจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ โลหะที่เป็นสเตนเลส พลาสติก แก้ว แต่ละกลุ่มพบ PFAS แตกต่างกัน แต่หลอดที่ทำจากสเตนเลสไม่พบสาร PFAS
ที่บอกว่า EU สั่งยกเลิกนั้น ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะคนที่พูดไปตีความว่าการที่ EU แบน เพราะการใช้หลอดมี PFAS
ในความเป็นจริง EU แบนหลอดเพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นจาน ช้อน ถ้วย ชาม รวมถึงหลอดด้วย แต่ในตัวงานวิจัยพูดถึง PFAS โดยเฉพาะ แต่ไม่ได้บอกว่าจะแบนหรือไม่แบน
ถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย บอกไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มตัวอย่างเดียวกันหรือไม่
ยกตัวอย่าง ในหลอดกระดาษ พบถึง 90 เปอร์เซ็นต์ คือเก็บตัวอย่างมาทั้งหมด 20 ตัวอย่าง แต่ 18 ตัวอย่างพบ PFAS อยู่ในนั้น ไม่พบแค่ 2 ตัวอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ายี่ห้ออะไรบ้าง และเป็นยี่ห้อเดียวกับที่จำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่
อาจเป็นการสรุปแบบเหมารวมเกินไป เพราะถ้าเป็นหลอดกระดาษไม่ว่าจากประเทศไหน จะต้องพบ PFAS 90 เปอร์เซ็นต์เลยหรือ อาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ได้
จริง ๆ แล้ว สาร PFAS ใช้สัมผัสกับอาหาร ได้หรือไม่ ?
ปกติ PFAS ก็มีการใช้งานกันทั่วไปอยู่แล้ว
ถ้าใช้ในสภาวะที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุณหภูมิ ชนิดของอาหาร ก็มั่นใจได้ว่าไม่มีการปนเปื้อนของสาร PFAS หรือหลุดออกมาเกินที่มาตรฐานกำหนด
ร่างกายคนเราจะได้รับ PFAS เข้าไปโดยผ่านการสัมผัสอาหาร และกินอาหารเข้าไป
การที่สารเคมีจะเคลื่อนที่จากภาชนะไปสู่อาหาร เรียกว่า ไมเกรชั่น (Migration) เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยเด่น ๆ ได้แก่
1. อุณหภูมิ ถ้าอุณหภูมิสูงโอกาสเกิดไมเกรชั่นจะมีมาก
2. ชนิดของอาหาร ถ้าเป็นอาหารกลุ่มไขมันก็มีโอกาสเกิดไมเกรชั่นได้มากกว่า เช่น ใช้หลอดกระดาษอันเดียวกัน ดูดนมอุ่น อีกแก้วเป็นน้ำผลไม้เย็น ถ้าหลอดนั้นมี PFAS โอกาสที่ PFAS ลงไปในนมอุ่นจะมีมากกว่า เพราะอุณหภูมิสูงกว่า มีความเป็นไขมันมากกว่า
สารกลุ่มนี้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย อาจจะไปสะสมในตับ ทำให้การทำงานผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่น ระบบประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์
ผู้ผลิตมีคำแนะนำการใช้งาน ว่าไม่ควรใช้งานในสภาวะไหนบ้าง เมื่อใช้งานตามคำแนะนำของผู้ผลิตก็สามารถมั่นใจได้ว่าสารกลุ่มนี้จะไม่หลุดลงมาในอาหาร
ในชีวิตประจำวัน อาจได้รับสาร PFAS จากอะไรบ้าง ?
บรรจุภัณฑ์อาหาร : เช่น กล่องอาหาร กล่องโฟม ถ้วยกาแฟเคลือบ หรือห่อขนมต่างๆ เนื่องจากสาร PFAS มีคุณสมบัติกันน้ำ กันมัน และทนความร้อน ทำให้ถูกนำไปเคลือบบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อยืดอายุการใช้งานและป้องกันอาหารเสีย
เครื่องครัว : กระทะ หม้อ หรืออุปกรณ์ทำครัวที่เคลือบสารกันติด เช่น เทฟลอน อาจมีสาร PFAS ปนเปื้อนอยู่ได้
เสื้อผ้า : เสื้อผ้ากันน้ำ หรือเสื้อผ้ากีฬาบางชนิด อาจมีการเคลือบสาร PFAS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำและคราบสกปรก
เฟอร์นิเจอร์ : พรม โซฟา หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากผ้า หรือวัสดุเคลือบกันน้ำ กันเปื้อน อาจมีสาร PFAS ปนเปื้อนอยู่ได้
ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนตัว : เครื่องสำอาง สบู่ แชมพู หรือโลชั่นบางชนิด อาจมีส่วนผสมของสาร PFAS เพื่อเพิ่มความคงทนของผลิตภัณฑ์
น้ำดื่ม : ในบางพื้นที่ น้ำดื่มอาจปนเปื้อนสาร PFAS จากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งกำเนิดอื่น ๆ
อาหาร : สัตว์น้ำ เช่น ปลา หรืออาหารทะเลอื่น ๆ อาจสะสมสาร PFAS จากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารชนิดนี้
ฝุ่นละออง : ฝุ่นละอองในอากาศอาจมีอนุภาคของสาร PFAS จากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สลายตัว
สาร PFOA ทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายหรือไม่ อย่างไร ?
เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว PFOA จะถูกสะสมอยู่ในตับ ไต และเลือด โดยร่างกายไม่สามารถขับออกได้ง่าย ทำให้สะสมเป็นเวลานาน ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น
ระบบภูมิคุ้มกัน : ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอต่อการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
ระบบต่อมไร้ท่อ : ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย เช่น ภาวะมีบุตรยาก การเจริญเติบโตผิดปกติ หรือโรคเบาหวาน
ระบบสืบพันธุ์ : อาจส่งผลกระทบทั้งในเพศชายและเพศหญิง
ระบบประสาท : มีการศึกษาบางส่วนที่เชื่อมโยง PFOA เข้ากับปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบประสาทในเด็ก
มะเร็ง : บางชนิดของสาร PFAS ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งไต มะเร็งอัณฑะ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ : การได้รับสาร PFOA ในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทำให้น้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือมีความผิดปกติทางกายภาพ
ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ : เช่น การเพิ่มขึ้นของคอเลสเตอรอลในเลือด การลดลงของน้ำหนักแรกเกิด และปัญหาเกี่ยวกับตับ
คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค ดื่มน้ำอย่างไร ให้ปลอดภัยจากสาร PFAS และ สาร PFOA
ในแง่ของสุขภาพ การป้องกันตัวเองจากสาร PFAS และ PFOA เป็นสิ่งสำคัญ การลดความเสี่ยงในการได้รับสารดังกล่าว ซึ่งมาจากหลอดกระดาษ หลอดพลาสติก หากหลีกเลี่ยงการใช้งานหลอดกลุ่มนี้ และเลือกใช้หลอดสเตนเลส หลอดแก้ว ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดภัย สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ก็จะช่วยลดโอกาสการได้รับสารกลุ่มนี้ และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ดังนั้น จะต้องระวังเรื่องความสะอาด มีอุปกรณ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม และอันตรายจากการกระแทก
ในแง่ของสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ได้มีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องใช้หลอดดูดน้ำ เช่น เป็นผู้พิการ หรือต้องอยู่ในท่านอน ไม่สามารถดื่มน้ำจากแก้วได้ ก็ลองหยุดคิดสักนิด ก่อนที่จะใช้หลอดแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะระยะเวลาการใช้งานนั้นสั้นมาก หากเทียบกับระยะเวลาที่มันจะตกค้างอยู่เป็นขยะในโลกของเรา
📌 สรุป : เรื่องนี้จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ต่อ ❌
ข้อมูลที่แชร์กันมีส่วนทำให้เข้าใจผิด เพราะการที่บอกว่า สหภาพยุโรปแบน การใช้หลอดที่มี PFAS ไม่เป็นความจริง เพราะถ้าแชร์เรื่องนี้ต่อไป ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้างได้
การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามข้อเท็จจริง โดยไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ต้องเลิกใช้หลอดดูดน้ำ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter