แม่ฮ่องสอน 19 ธ.ค. – ทหารว้าที่รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย บริเวณชายแดนปาย จ.แม่ฮ่องสอน ยังไร้ความเคลื่อนไหว หลังทหารไทยเจรจาขอให้ย้ายฐานออกไป
ทหารว้าในฐานคายหลวงและฐานคอม้า ที่ตั้งอยู่บนสันเขา บริเวณชายแดนด้าน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตไทย ซึ่งมีกำลังฐานละประมาณ 50 นาย ยังไร้ความเคลื่อนไหว หลังทหารไทยได้เจรจาทั้งว้าและเมียนมาเพื่อขอให้ย้ายฐานออกไป มีรายงานว่าทางทหารว้าขอเวลาแจ้งกับหน่วยเหนือเพื่อพิจารณาก่อน ซึ่งฝ่ายไทยยังคงยึดการเจรจาเป็นหลัก
มีรายงานว่า พื้นที่ฐานของทหารว้าหรือ UWSA ทั้ง 2จุด รวมทั้งฐานย่อยหนองหลวง ซึ่งเป็นเหมือนฐานส่วนล่วงหน้า ระยะทางตามแผนที่อยู่ห่างจากหย่อมบ้านปายสองแง่ง ในตำบลเวียงเหนือ ของอำเภอปาย ราว 8 กิโลเมตร ซึ่งมีการรุกล้ำเขตแดนมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยขุนส่า ราชายาเสพติด ที่เข้ามาตั้งฐาน จนกองกำลังล่มสลาย กองกำลังชนกลุ่มน้อยในฝั่งเมียนมาเข้ามายึดฐานไว้ จนกระทั่งกองกำลังว้าเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่และเข้ามาใช้ฐานแห่งนี้กว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีการสำรวจและปักหมุดเขตแดนอย่างเป็นทางการระหว่างไทย-เมียนมา ต่างยึดถือแผนที่คนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาในการตั้งฐานทหารบนสันเขาเหลื่อมล้ำเขตแดนกันอยู่ โดยทางการเมียนมายังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงยังไม่สามารถสำรวจและปักหมุดเขตแดนร่วมกันได้
แม้ที่ผ่านมามีการพูดคุยกันของฝ่ายทหารทั้งสองฝ่ายในเรื่องนี้มาโดยตลอด จนมาถึงครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะต้องเจรจาของทหารไทยและเมียนมาทั้งในระดับท้องถิ่นหรือทีบีซี และคณะกรรมการในระดับภาคหรืออาร์บีซี ด้วย ขณะเดียวกันที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการป้องกันยาเสพติดของไทย จับตาพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มว้า ซึ่งขึ้นชื่อในการผลิตและค้ายาเสพติดรายใหญ่ รวมถึงบริเวณชายแดนด้านแม่ฮ่องสอน
นายธันวา ผุดผ่อง ผู้อำนวยการ ปปส.ภาค 5 เผยด้านการข่าวกลุ่มว้าที่ตั้งฐานที่มีปัญหาลุกล้ำเขตแดนกับไทยบริเวณแนวชายแดนตรงข้าม อ.ปาย อ.ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน และ อ.เวียงแหง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีประมาณ 6-7 ฐาน กำลังเร่งจัดระเบียบ และถอยตั้งหลัก หากมีอะไรเกิดขึ้น กลุ่มว้าเองก็กลัวว่าไทยจะไปเจอกับแหล่งผลิตยาเสพติด
ด้านนายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รมว.ต่างประเทศ นำคณะแถลงข่าว กรณีกองทัพกลุ่มว้าแดงจะเคลื่อนฐานทัพออกจากพื้นที่ชายแดนไทยนั้น เรื่องนี้จะมีการกลับไปใช้กลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยจะหารือทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันจะกลับไปใช้กลไกชายแดน ผ่านคณะกรรมการเขตแดนร่วม หรือ JBC พร้อมปฏิเสธว่า กรณีกลไกชายแดน ไม่เกี่ยวกับเรื่องการช่วยเหลือลูกเรือประมง .-สำนักข่าวไทย