ศรีสะเกษ 5 ม.ค. – “ชัยวัฒน์” เข้าตรวจสถานการณ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.ศรีสะเกษ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย ระหว่างเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณช่องพระพลัย ติดชายแดนกัมพูชา
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) กล่าวว่า ได้เข้าตรวจสถานการณ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.ศรีสะเกษ ทันทีที่ได้รับแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) เสียชีวิตและบาดเจ็บระหว่างเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณช่องพระพลัย ติดชายแดนกัมพูชา
จากการเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุบริเวณช่องพระพะลัย พิกัด 48 p 444900 158930 เบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
1. ส.อ.อัครพล ภูวดลวรนาถ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ข้อเท้าซ้ายขาด แขนทั้งสอง ใบหน้ามีบาดแผล สะเก็ดระเบิดเข้าทะลุปอดและหัวใจ ไม่รู้สึกตัว ต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
2. ส.อ.วรงค์กร ศรีงาม ตำแหน่งผู้บังคับสุนัขตรวจทุ่นระเบิด ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยบริเวณขา และส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลขุนหาญ แล้วส่งต่อไปที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังมี “เจ้าโบ้” สุนัขตรวจทุ่นระเบิด ซึ่งเบื้องต้นพบว่าไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ได้ส่งตัวไปตรวจร่างกาย อยู่ระหว่างรอฟังผลจากสัตวแพทย์
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า พื้นที่สนามทุ่นระเบิดที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ระเบิดตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักทั้งหมด โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ยังคงหลงเหลือจากภัยสงคราม โดยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นายชัยวัฒน์ได้เข้าร่วมรับฟังนโยบายและแผนปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิด ตลอดจนลงพื้นที่สนามทุ่นระเบิด เพื่อให้เห็นการปฏิบัติงานจริงของเจ้าหน้าที่ TMAC ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก
นอกจากนี้ยังระบุว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ TMAC ถือเป็นด่านหน้าในการเสี่ยงภัย ก่อนที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องเดินลาดตระเวนเพื่อป้องกันรักษาป่าในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเหตุการณ์ระเบิดในขณะปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้ระเบิดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรักในครั้งนี้ ถือเป็นการสะท้อนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่มีความเสี่ยงอย่างมาก ต้องการให้ผู้บริหารระดับสูงมาจากผู้ที่ผ่านการทำงานในพื้นที่สนามจริงๆ จึงจะเข้าใจว่า ทั้งหน่วยเก็บกู้ระเบิด หน่วยความมั่นคงชายแดน เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนที่ทำหน้าที่ปกป้องพิทักษ์ผืนป่า สัตว์ป่านั้นยากลำบากเพียงใด กว่าจะได้ป่าที่สมบูรณ์.-สำนักข่าวไทย