By ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ
เรื่องขำๆ ที่อำกันเล่นในหมู่เพื่อน ว่ามีตั๋วเครื่องบินราคาถูก “กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ” กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการหารายได้มาจุนเจือธุรกิจของการบินไทย นอกเหนือจากการขายปาท่องโก๋และเปิดร้านอาหารครัวการบิน ขณะที่สายการบินต่างชาติที่ต่างกำลังเจ็บหนักจากโควิด-19 ก็พากันเปิดให้บริการ “เที่ยวบินที่ไม่ได้ไปไหน” หรือ “Flight to nowhere” ให้ผู้โดยสาร คนอยากบิน ได้สัมผัสบรรยากาศและชมวิวทิวทัศน์จากมุมมองเหนือน่านฟ้า แล้ววนกลับมาลงที่เดิม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม
ไต้หวัน-ญี่ปุ่น ออกแนว “ครอบครัวน่ารัก”
สายการบินของไต้หวันเป็นรายแรกๆ ที่เปิดให้บริการ “Flight to nowhere” โดย EVA Air นำเครื่องบิน Airbus A330-300 ที่ตกแต่งทั้งลำด้วยลายการ์ตูน Hello Kitty มาให้บริการเที่ยวบินพิเศษ BR5288 ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมฉลองวันพ่อแห่งชาติของไต้หวัน วันที่ 8 สิงหาคม 2563 ในบรรยากาศผสมผสานระหว่างความน่ารักสนุกสนานร่วมกับตัวการ์ตูน Hello Kitty และความเพลิดเพลินในการเดินทาง จากท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถาหยวน วนชมวิวทิวทัศน์ตามแนวชายฝั่งของเกาะไต้หวัน รวมถึงเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น แล้วกลับมาลงที่เดิม ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง 45 นาที
หลังเปิดให้จองตั๋วล่วงหน้าปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว EVA Air จึงเปิด Flight to nowhere เที่ยวบินที่สองในอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา
ขณะที่ Tigerair ไต้หวัน พาบินขึ้นจากไทเป วนไปชมวิวเกาะ Jeju ของเกาหลีใต้ เปิดขายตั๋วราคากว่า 6,800 บาท หมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียง 4 นาที !! โดยราคาตั๋วนี้รวม Voucher อายุ 1 ปีที่ผู้โดยสารสามารถนำกลับมาใช้บินไป-กลับ เส้นทางไทเป-เกาหลีใต้ได้ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม สนามบินไทเป ซงซาน ร่วมกับ EVA Air และ China Airlines เปิดให้บริการพิเศษที่คล้ายกับ Flight to nowhere แต่เป็นการสัมผัสบรรยากาศแบบ “การบินเสมือนจริง” หรือ “Virtual flight” ตั้งแต่การเช็กอิน ตรวจสอบความปลอดภัย ใช้บริการในห้องรับรอง และขึ้นเครื่องซึ่ง จอดอยู่กับที่ !!??
ทันทีที่มีประกาศออกไป ก็มีคนแห่ลงทะเบียนสนใจจะสัมผัสบรรยากาศการบินแบบปลอมๆ นี้ถึง 7,000 คน แต่มีผู้โชคดีได้รับการสุ่มเลือกรอบแรกเพียง 60 คนเท่านั้น
อีกสายการบินหนึ่งที่เริ่มให้บริการ “Dine and Fly” หรือเที่ยวบินชมวิวบริเวณเกาะบอร์เนียว พร้อมรับประทานอาหารบนเครื่อง ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม คือ Royal Brunei
ขณะที่ All Nippon Airways (ANA) ของญี่ปุ่น เล่นใหญ่ ด้วยการนำเครื่องบินโดยสารใหญ่ที่สุดในโลก Airbus A380 ที่ตกแต่งลำตัวเครื่องด้วยลวดลายสีฟ้าสดใสของเต่าทะเล มาให้บริการ Flight to nowhere ขึ้น-ลงที่สนามบินนาริตะ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา จากในช่วงสถานการณ์ปกติเครื่องบินลำนี้จะใช้บินในเส้นทางนาริตะ-ฮอโนลูลู ฮาวาย โดย ANA ใช้วิธีออกรางวัลแบบลอตเตอรี่ให้ลูกค้าผู้โชคดีจำนวน 334 คน หรือ 64% ของความจุของเครื่องบิน ได้โดยสารไปกับเที่ยวบินพิเศษ “Flying Honu” เที่ยวแรก ซึ่งเสิร์ฟอาหาร เครื่องดื่ม ในบรรยากาศแบบฮาวายตลอดการเดินทาง 90 นาที
Qantas พาบินชมวิวนาน 7 ชั่วโมง
ทัศนียภาพอันงดงามตระการตาของแหล่งท่องเที่ยวทางตอนใต้ของประเทศ เป็นจุดขายที่สายการบิน Qantas ของออสเตรเลีย เปิดเที่ยวบินพิเศษที่เรียกว่า ‘Great Southern Land’ scenic flight เพียงไฟลท์เดียวในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2563 ใช้เครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner ซึ่งมีช่องหน้าต่างกว้างกว่าเครื่องรุ่นอื่น ทำการบินในระดับเพดานบินต่ำ หรือ Low level flybys เพื่อให้ชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างเต็มตา ใช้เวลาบินประมาณ 7 ชั่วโมง ออกจากนครซิดนีย์ บินข้ามจากรัฐ Queensland, Northern Territory และ New South Wales ผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น แนวปะการัง Great Barrier Reef, อุทยานแห่งชาติ Uluru , Kata Tjuta , Byron Bay, อ่าวซิดนีย์, ชายหาด Bondi และกลับมาลงที่เดิม คิดค่าโดยสาร หรือค่าทัวร์เริ่มต้นที่ 787 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 17,600 บาท ราคานี้รวมบริการพิเศษอื่นๆ เช่น มื้อเช้าก่อนขึ้นเครื่อง มื้อกลางวันบนเครื่องที่ปรุงโดยเชฟ Neil Perry กิจกรรมบันเทิงโดยพิธีกรชื่อดัง และการเข้าร่วมประมูลของที่ระลึก ซึ่งจะนำเงินที่ได้ไปบริจาคให้การกุศล
ผู้โดยสารสนไหม ? เที่ยวบิน “กรุงเทพฯ-สุวรรณภูมิ”
การบินไทยย่อมจะไม่ตกขบวนเที่ยวบินนี้ โดยกำลังยื่นขออนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. เพื่อจัดทัวร์บนน่านฟ้าด้วยเครื่องบิน Airbus A320 ของไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก พาบินวนไปยังจุดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นคาดว่าอัตราค่าบริการน่าจะอยู่ที่คนละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ การบินไทยยังเปิดตัวโครงการ “THAI Flying Experience & Beyond” เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและมีใจรักด้านการบินได้เติมเต็มความฝัน ด้วยการสัมผัสบรรยากาศและเรียนรู้การทำงานต่างๆ ในห้องควบคุมการบิน (Cockpit) จากเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) รวมทั้งห้องจำลองการบริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน โดยคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 12,000 บาท สำหรับแพ็กเกจ 30 นาที ใช้บริการได้ 2 คน
สายการบินอื่นในเอเชีย อย่าง Asiana ของเกาหลีใต้ และ Air India ต่างก็มีแผนจะเปิดให้บริการ Flight to nowhere เช่นกัน ขณะที่ Singapore Airlines เคยออกข่าวว่าสนใจจะเปิดเที่ยวบินพิเศษแบบนี้ แต่เปลี่ยนใจยกเลิกแผน โดยอ้างเหตุผลว่า มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ว่าจะเป็นการสร้างมลพิษเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
ภาพเครื่องบินโดยสารนับร้อยลำต้องจอดเรียงรายสงบนิ่งอยู่ตามสนามบินต่างๆ สะท้อนถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก สมาคมสายการบินแห่งเอเชียแปซิฟิก (Association of Asia Pacific Airlines) รายงานว่าการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ลดลงถึง 97% ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ The International Air Transport Association (IATA) ก็คาดการณ์ว่า อาจต้องใช้อีกถึง 4 ปี หรือถึงปี 2567 กว่าการเดินทางทางอากาศทั่วโลกจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
บรรดาสายการบินจึงมีทางเลือกไม่มากนัก ที่จะต้องพยายามหารายได้เข้าองค์กร ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางให้เครื่องบินได้ใช้งาน ให้พนักงานได้มีงานทำ และรักษาใบอนุญาตทำการบินไว้ แม้รายได้ที่เข้ามาจุนเจือเพียงเล็กน้อย แต่ก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทาง.