24 ส.ค. – การจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ถูกจับตาและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ วันนี้ทีมข่าวสำนักข่าวไทยย้อนรอยการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือมาให้ทราบกัน
เป็นเวลาถึง 68 ปีแล้ว ที่ไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการในกองทัพเรือ แต่ไม่ใช่ว่าไทยไม่เคยมีเรือดำน้ำมาก่อน ปี 2478 กองทัพเรือมีเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาดเล็ก 7 ลำ สั่งต่อจากอู่ต่อเรือมิตซูบิชิ ญี่ปุ่น ราคาลำละ 882,000 บาท คือเรือหลวงมัจฉานุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล ก่อนปลดประจำการราวปี 2494
แต่อีกไม่นานเกินรอ ไทยจะมีเรือดำน้ำใช้ หลังกองทัพเรือเดินหน้าของบประมาณ และชี้แจงถึงความจำเป็นว่าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ ที่สุด ครม.อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ รุ่น yuan class S26T จากจีน ลำแรก เมื่อ 18 เมษายน 2560 แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี วงเงิน 13,500 ล้านบาท แบ่งชำระ 7 ปี รวม 17 งวด
กองทัพเรือเดินหน้าเสนอเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 เข้ามาอีก วงเงิน 22,500 ล้านบาท กำหนดชำระ 7 งวด เดิมกำหนดว่าปี 63 จะเริ่มจ่าย 3,375 ล้านบาทก่อน แล้วทยอยต่อเนื่องจนถึงงวดสุดท้าย ปี 2569 เป็นเงิน 3,500 ล้านบาท
แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กองทัพเรือตัดงบงวดแรกในปี 2563 ไปช่วยโควิด แต่ได้เตรียมลงนามในสัญญาเดือนกันยายนนี้ ขอผ่อนผันจ่ายเงินงวดแรกในปี 2564 และจะเลื่อนจบงวดสุดท้ายในปี 2570
กองทัพเรือชี้แจงอีกว่า การเจรจาซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ ได้ข้อยุติราคาลำละ 11,250 ล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าลำแรก พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ทั้งแผ่นยางลดเสียงสะท้อน ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบสื่อสารข้อมูลทางยุทธวิธีและอาวุธ ทั้งจรวดนำวิถี ทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด มูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยไม่ต้องเพิ่มวงเงิน ดังนั้นในปี 2570 ไทยจะมีเรือดำน้ำหน้าตาเหมือนกัน 3 ลำ
กองทัพเรือแจงว่าหากชะลอการจัดซื้อปีนี้ออกไป แม้ไม่มีค่าปรับ แต่อาจกระทบความเชื่อมั่นในเชิงพาณิชย์ของไทย สุดท้ายต้องวัดใจคณะกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ จะตัดสินอย่างไร ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตการซื้อเรือดำน้ำ เกิดในช่วงที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และผลกระทบจากโควิด-19. – สำนักข่าวไทย