กรุงเทพฯ 18 ก.พ. – ศกพ. จับมือโรงงานน้ำตาลส่งเสริมการรับซื้ออ้อยไม่เผาเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ผุดต้นแบบการใช้เทคโนโลยีในการตัดใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว นำไปสู่การรับซื้ออ้อยสด 100% ในอนาคต
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า ได้ร่วมกับโรงงานน้ำตาลและเกษตรกรไร่อ้อยในหลายพื้นที่ส่งเสริมการเก็บเกี่ยวอ้อยไม่เผา โดยทำต้นแบลที่ ปีนี้เก็บเกี่ยวโดยไม่เผาได้ถึง70% อาจมีอุปสรรคบ้างในการส่งเสริมขยายผล แต่ก็บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด และแปลงอ้อยในบ้านทับหมัน ต. ทัพหลวง อ. บ้านไร่ จ. อุทัยธานี รณรงค์ตามแนวคิด “รวดเร็ว ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แปลงเศษต้นและใบอ้อยเป็นเงิน ได้พลังงานไฟฟ้า ลดผลกระทบโลกร้อนและ PM2.5 ที่สำคัญดีต่อสุขภาพ” ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญแผนปฏิบัติการลดมลพิษทางอากาศ
ทั้งนี้บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด มีโครงการรับซื้อใบอ้อยสดในราคาตันละ 1,000 บาท มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ซึ่งเป็นราคารับซื้อที่สูงกว่าอ้อยเผาหรืออ้อยไฟไหม้ด้วย โดยในปีนี้ (2564) รับซื้ออ้อยสดร้อยละ 70 ส่วนอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 30 มากกว่าปี 2563 ซึ่งรับซื้ออ้อยสดร้อยละ 30 และอ้อยไฟไหม้ร้อยละ 70 นอกจากนี้กำหนดเป้าหมายรับซื้ออ้อยสดร้อยละ 100 ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สำคัญของการบริหารจัดการด้านการลดฝุ่นละออง PM2.5 และการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนโดยเกษตรกรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แก่ รถตัดอ้อยและรถเก็บอัดใบอ้อยมาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมด้วย ช่วยลดแรงงานที่ใช้ตัดอ้อยและลดเวลาการตัดอ้อยลง 3 เท่า
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ราคารถตัดอ้อยและรถเก็บอัดใบอ้อยยังมีสูงอยู่ ทำให้เกษตรกรที่มีทุนน้อยจึงยังใช้วิธีเผาอ้อย แต่ภาครัฐจะร่วมกับผู้ประกอบการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่เกษตรกรใน 47 จังหวัดซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 10 ล้านไร่ และมีโรงงานผลิตน้ำตาล 58 โรงทั่วประเทศ โดยโรงงานส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วในปี 2564 และจะเข้าร่วมเพิ่มขึ้นต่อไป
นายอรรถพล กล่าวถึงนโยบายที่ได้รับจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดมลพิษและผลกระทบสุขภาพของประชาชน ดังนั้นจะขยายแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรเช่น ใบอ้อยไปยังพืชอื่นๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อจะได้ไม่มีการเผาหลังเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ลดการเผาวัสดุทางการเกษตรที่เหลือใช้ โดยนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทดแทนการเผา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่ (BCG) ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวที่จะยกระดับให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรหลากหลายรูปแบบ ทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต . – สำนักข่าวไทย