กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – เลขาธิการ สทนช.เน้นย้ำจังหวัดริมแม่น้ำโขงเตรียมรับสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำโขงสูงขึ้น จากฝนที่ตกหนักสะสมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลาว ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบนจะทำให้มีฝนตกมากขึ้น ล่าสุดได้รับรายงานว่าจะมีการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี คาดจะมีน้ำล้นตลิ่งในจังหวัดเลย หนองคาย และบึงกาฬ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังและเตรียมรับสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่จะเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 – 16 กันยายน เนื่องจากฝนที่ตกหนักสะสมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้วยอิทธิพลของพายุยางิ แม้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่ลาว แต่ทำให้มีฝนตกหนักดังกล่าว ประกอบในช่วงวันที่ 13 – 17 กันยายน 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากจึงจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สทนช.คาดการณ์ว่า ระดับน้ำที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จะสูงกว่าตลิ่ง 0.50-1.50 เมตร ขณะที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่ง 1.50-2.50 เมตร ในช่วงวันที่ 13 – 16 กันยายน 2567 ส่วนจังหวัดเชียงราย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง
สำหรับข้อกังวลถึงการที่ประเทศเวียดนามซึ่งเกิดน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุยางิลงสู่แม่น้ำโขงจะกระทบประเทศไทยหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ไม่ส่งผลกระทบ แต่ล่าสุดได้รับรายงานว่า ลาวจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรีที่อัตรา 22,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สิ่งที่ สทนช. เป็นห่วงคือ เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงของไทยจะทำให้การระบายน้ำจากลำน้ำสาขาทำได้ยากขึ้น
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อจังหวัดริมแม่น้ำโขงเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์และเตรียมแนวทางในการดูแลประชาชน ทั้งการเตรียมแผนอพยพเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน การจัดตั้งศูนย์พักพิง การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน รวมถึงการเฝ้าระวังในพื้นที่เปราะบางต่าง ๆ เช่น การสร้างทำนบป้องกันน้ำล้นในพื้นที่ของโรงพยาบาล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากเนื่องจากคาดว่า จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเน้นย้ำให้วางแนวทางป้องกันผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายน้ำเช่น การเสริมคันกั้นน้ำ สูบระบายน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น โดยให้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำหรือกลุ่มลุ่มน้ำตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566/2567 แทนการบริหารจัดการแบบรายเขื่อน
สทนช. พยายามแสวงหาความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) โดยเฉพาะกับเมียนมาตามกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อจะขอเข้าไปติดตั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและน้ำท่ากรณีมีฝนตกหนักในเมียนมา จะได้นำข้อมูลมาใช้แจ้งเตือนประชาชนของทั้งฝั่งเมียนมาและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อย่างทันท่วงที ตลอดจนจะส่งเสริมให้เมียนมาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำด้วย โดยจะเจรจาให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว พร้อมย้ำว่า การบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงจะต้องบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำตั้งแต่จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามลดผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ. -512 -สำนักข่าวไทย