ระยอง 29 เม.ย. – คพ. เผยผลตรวจสอบไอระเหยของสารเคมีโรงงานวินโพรเสส พบชนิดและปริมาณที่ตรวจลดลงต่อเนื่อง แต่บางจุดยังอยู่ในระดับก่อการระคายเคือง ที่อาคาร 3 พบค่าแอมโมเนียอยู่ในระดับอันตราย ตำรวจ พฐ. ต้องรออีก 2 สัปดาห์จึงจะเข้าเก็บหลักฐานได้ พร้อมปรับแผนลดการปะทุของกากอลูมิเนียม
กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยคุณภาพอากาศในพื้นที่เพลิงไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตรายของบริษัท วินโพรเสส จำกัด จังหวัดระยองให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดระยองก่อนเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่า ค่าแอมโมเนียอยู่ที่ 1 – 7 ppm ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ยกเว้นอาคาร 3 ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจังหวัดระยองจึงมีแผนจะเข้าตรวจสอบที่อาคาร 3 ในอีก 2 สัปดาห์
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงได้ทั้งหมดแล้ว แต่ยังคงตรวจพบไอระเหยสารเคมีบริเวณกองกากของเสียที่ถูกไฟไหม้เดิมจึงปรับแผนการควบคุมสถานการณ์ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองนำโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) มาปิดทับกองกากเพื่อดูดซับความชื้นจากกองกากอลูมิเนียมและลดปฏิกิริยาเคมีและป้องกันการปะทุของกองกากอลูมิเนียม
ส่วนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริเวณรอบโรงงานในพื้นที่ชุมชน 13 จุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางบุตร ตำบลหนองบัว บริเวณด้านท้ายลม 3 รอบได้แก่ เวลา 6.30 – 9.00 น. เวลา 13.39 – 16.25 น. และเวลา 18.40 – 20.15 น. พบว่า บางจุดมีไอระเหยของสารเคมีบางชนิดอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ตา และผิวหนัง โดยแบ่งการตรวจตามระยะห่างจากจุดเกิดเหตุ ดังนี้
- ระยะ 2 กิโลเมตร ตรวจในช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 27 เมษายน 2567 ที่ตำบลบางบุตร พบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อย ในหมู่ที่ 4 และ 8 จำนวน 6 ชนิดได้แก่ แอมโมเนีย (Ammonia) ไฮโดรเจนคลอไรด์ (Hydrogen chloride) เบนซีน (Benzene) ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) และมีเทน (Methane) และพบสารที่อยู่ในระดับจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ในหมู่ที่ 4 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ อะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) ฟอสจีน (Phosgene) และฟอสฟีน (Phosphine) และในพื้นที่หมู่ที่ 8 พบสารฟอสจีน (Phosgene) ในช่วงค่ำ ตรวจพบเฉพาะไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อยเช่นเดียวกับที่ตรวจพบในช่วงบ่าย ยกเว้น มีเทน (Methane) และตรวจไม่พบสารที่อยู่ในระดับจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง
- ระยะ 2 – 5 กิโลเมตร ตรวจในช่วงบ่ายของวันที่ 27 เมษายน 2567 พื้นที่ตำบลบางบุตร หมู่ที่ 4 และตำบลหนองบัว หมู่ที่ 2 และ 11 ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อยที่ตรวจพบในระยะ 2 กิโลเมตร โดยตรวจพบ เบนซีน (Benzene) เฉพาะในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 11 และพบสารที่อยู่ในระดับจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ในพื้นที่ตำบลบางบุตร หมู่ที่ 4 ได้แก่ สารฟอสจีน (Phosgene) พื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 2 ได้แก่ สารอะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) และหมู่ที่ 11 พบ 3 ชนิด ได้แก่ อะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) ฟอสจีน (Phosgene) และฟอสฟีน (Phosphine) ในช่วงค่ำ ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อยที่พบซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในช่วงบ่าย และพบสารที่อยู่ในระดับจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจระคายเคืองตาและผิวหนัง ในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 11 จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ สารเมทิลเมอร์แคปแทน (Methyl Mercaptan) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nirogen Dioxide)
- – ระยะ 5 – 7 กม. จำนวน 1 จุด ในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 3 ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อยที่ตรวจพบในระยะ 2 กิโลเมตร และพบสารที่อยู่ในระดับจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง 2 ชนิด ได้แก่ อะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) และฟอสจีน (Phosgene) ในช่วงค่ำ พื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 3 ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อยที่ตรวจพบในระยะ 2 กิโลเมตร และพบสารไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nirogen Dioxide) ที่อยู่ในระดับจะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง
ส่วนผลการตรวจสอบในวันที่ 28 เมษายน 2567 ช่วงเช้า มีดังนี้
- ระยะ 2 – 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 2 และ 11 ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อยที่ตรวจพบชนิดเดียวกับที่ตรวจพบวันก่อนหน้า โดยพบสารที่อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 2 จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ สารเมทิลเมอร์แคปแทน (Methyl Mercaptan) ฟอสฟีน (Phosphine) และ หมู่ที่ 11 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ สารเมทิลเมอร์แคปแทน (Methyl Mercaptan) ฟอสฟีน (Phosphine) และ สารไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nirogen Dioxide)
- ระยะ 5 – 10 กิโลเมตร จำนวน 1 จุด ในพื้นที่ตำบลหนองบัว หมู่ที่ 3 ตรวจพบไอระเหยสารเคมีปริมาณเล็กน้อย 5 ชนิด ได้แก่ แอมโมเนีย (Ammonia) ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide) มีเทน (Methane) และฟอสฟีน (Phosphine)
ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษประเมินผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน – 28 เมษายน 2567 พบว่า ชนิดและปริมาณความเข้มข้นของไอระเหยสารเคมีที่ตรวจพบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว แต่ยังคงพบไอระเหยสารเคมีบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง หากเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง. 512 – สำนักข่าวไทย