กรุงเทพฯ 9 มิ.ย. – “วราวุธ” เผย “พลายศักดิ์สุรินทร์” มีสุขภาพแข็งแรง เพียงพอที่จะเดินทางจากศรีลังกากลับถึงไทย วันที่ 2 ก.ค.นี้ จากนั้นจะส่งไปรักษาอาการป่วยที่สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ จ.ลำปาง รวมเวลาเดินทาง 8 ชั่วโมง 20 นาที ระยะทางขนย้าย 2,600 กิโลเมตร
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า กระทรวง ทส. พร้อมนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์ (Muthu Raja)” เดินทางจากประเทศศรีลังกากลับประเทศไทย ต้นเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน
ทั้งนี้ การนำ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกา กลับมารักษาอาการป่วยที่ไทย เป็นการดำเนินการของกระทรวง ทส. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ร่วมกับกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กรมสารนิเทศ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง
นายวราวุธ กล่าวว่า ได้ส่งคณะสัตวแพทย์และควาญไปเตรียมการด้านสุขภาพของช้างให้พร้อมเดินทาง รวมถึงประสานงานเที่ยวบินขนส่งทางอากาศขนาดใหญ่ที่สามารถขนส่งช้างน้ำหนักประมาณ 3.5 ตันได้ นอกจากนี้ยังสั่งจัดทำกรงขนย้ายที่ปรับปรุงจากกรงต้นแบบที่ใช้เคลื่อนย้าย “พลายคาราวาน” จากปากีสถานไปกัมพูชา โดยกรงของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” กว้าง 2.10 เมตร ยาว 6.60 เมตร และสูง 3.02 เมตร เนื่องจากตัวใหญ่และงายาวมาก เมื่อจัดทำเสร็จแล้ว ควาญจะฝึกช้างให้คุ้นเคยกับการเข้าออกกรง ตลอดจนดำเนินการขั้นตอนตรวจโรคตามระเบียบการนำเข้าช้างมาในราชอาณาจักร ยื่นขออนุญาตนำเข้าตามอนุสัญญาไซเตส
ปัจจุบัน “พลายศักดิ์สุรินทร์” ได้รับการดูแลอยู่ที่สวนสัตว์เดฮิวาลา (Dehiwala) กรุงโคลัมโบ ในวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเดินทาง จะเคลื่อนย้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์” จากสวนสัตว์ไปยังสนามบินนานาชาติโคลัมโบ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นเครื่องบินเช่าเหมาลำขนาดใหญ่จะออกจากสนามบินนานาชาติโคลัมโบ มายังประเทศไทย ณ สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ระยะทาง 2,600 กิโลเมตร ใช้เวลา 6 ชั่วโมง โดยมีสัตวแพทย์ 2 คน และควาญช้าง 2 คน เดินทางมาพร้อมกัน เมื่อถึงสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ สัตวแพทย์จะประเมินสุขภาพของช้างก่อน จากนั้นจึงจะเดินทางด้วยรถบรรทุกต่อไปยังสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ จังหวัดลำปาง ระยะทาง 80 กิโลเมตร ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 50 นาที รวมระยะทางทั้งสิ้น 2,600 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง 20 นาที โดยสัตวแพทย์ยืนยันว่าจะไม่วางยาซึมช้าง เนื่องจาก “พลายศักดิ์สุรินทร์” ไม่มีความก้าวร้าว และควาญสร้างความคุ้นชินกับช้างแล้ว
สำหรับการดูแลรักษาอาการป่วยของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ภายหลังเดินทางถึงประเทศไทย มีขั้นตอนดังนี้
-กักกันโรคบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง โดยจุดกักกันโรคตั้งอยู่ตรงกันข้ามสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ) เป็นระยะเวลา 14 วัน โดยจะสังเกตอาการและพฤติกรรมของช้าง
-เมื่อครบ 14 วัน จะเก็บเลือดและตัวอย่างมูลเพื่อตรวจสอบเชื้อที่อาจติดต่อสู่คนและสัตว์
-หากปลอดโรคจะเคลื่อนย้ายมาดูแลรักษาอาการป่วยและฟื้นฟูสุขภาพในสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ ต่อไป
นายวราวุธ กล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการขนย้าย “พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่ได้รับอนุมัติงบกลางจากรัฐบาลรวม 19 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ร่วมเตรียมการขนย้ายช้างและการดูแลรักษา เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย องค์การสวนสัตว์ฯ จะเป็นหน่วยงานยื่นขอนำเข้าและองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จะดำเนินการขนย้ายและดูแลรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์
สำหรับ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เป็นหนึ่งในช้าง 2 เชือกที่รัฐบาลไทยมอบให้รัฐบาลศรีลังกาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อนำไปฝึกสำหรับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุประจำปีของประเทศศรีลังกา ขณะที่เดินทางไปยังศรีลังกา ช้างมีอายุไม่ถึง 10 ปี
ปัจจุบันช้างมีอายุประมาณ 30 ปี เมื่อเดือนมกราคม 2565 กระทรวง ทส. มีหนังสือสอบถามมายังกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้พิจารณาติดตามข้อมูลสุขภาพของช้าง “พลายศักดิ์สุรินทร์”
ต่อมาปลายปี 2565 กระทรวง ทส. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เดินทางไปตรวจสุขภาพ พบว่าช้างมีอาการป่วยจากฝีขนาดใหญ่ และมีการบาดเจ็บที่ขาและเท้า จากนั้นจึงขอให้ย้ายช้างไปรักษาอาการป่วยที่สวนสัตว์แห่งชาติเดฮิวาลา ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ภายหลังได้ประชุมหารือของผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯกับรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งมีความห่วงใยในสุขภาพของช้าง และเห็นควรให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน จึงได้เห็นชอบให้นำกลับมารักษาที่ประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในด้านการสัตวแพทย์และเชี่ยวชาญการดูแลช้าง พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณรัฐบาลศรีลังกาในความช่วยเหลือครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย