กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – รอง ผบช.น. ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ชุมนุมบุกทำลายทรัพย์สินราชการ สน.ดินแดง ได้รับความเสียหาย
เมื่อเวลา 17.30 น. วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ สน.ดินแดง พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อม พ.ต.อ.พงศ์จักร จักษุรักษ์ รอง ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.รัฐชัย ศรีวิชัย ผกก.สน.ดินแดง ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่เข้ามาทุบทำลายทรัพย์สินราชการ อาคาร สน.ดินแดง จนได้รับความเสียหาย ในคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ได้มาติดตามผลการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น 3 ส่วน คือ 1. การจับกุมผู้ชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 หลายสิบราย และ 2. การทำลายทรัพย์สินที่ สน.ดินแดง พบว่ามีรถกระบะ รถจักรยานยนต์ของราชการ รวมถึงตัวอาคารที่ได้รับความเสียหาย โดยรถยนต์ถูกเผาจนใช้การไม่ได้ และยังมีทรัพย์สินเอกชนและประชาชนโดยรอบได้รับความเสียหาย ก็จะต้องตามตัวเจ้าของมาแจ้งความร้องทุกข์ พร้อมประเมินค่าความเสียหาย โดยกำลังตรวจสอบผู้กระทำผิด ซึ่งเข้าข่ายความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ซึ่งสาธารณประโยชน์ และ 3. เรื่องการทำร้ายร่างกายสารวัตรสืบสวน สน.ดินแดง ที่สืบสวนหาข่าวใน ถ.วิภาวดีฯ ต้องแยกอีกสำนวน กำลังตรวจสอบหาผู้กระทำผิด ซึ่งพบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 8-10 คน มีคนทำร้าย 2-3 คน ที่เข้าไปผลักจนล้มและรุมทำร้าย ต้องดูว่าทั้งหมดเกี่ยวข้องกันหรือไม่
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพยานหลักฐานที่พบ เชื่อว่าผู้ที่เข้ามาทำลายทรัพย์สินของ สน.ดินแดง เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาจาก ถ.วิภาวดีฯ ทั้งนี้ ขอเตือนว่า การชักชวนโฆษณาและผู้ชุมนุมล้วนมีความผิดทั้งหมด เพราะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด นอกจากนี้ยังมีชาวเมียนมาหลายคนที่ขึ้นรถขยายเสียงมาร่วมชุมนุมด้วย กำลังพิสูจน์ทราบตัวบุคคลและจะดำเนินคดีด้วย หากในอนาคตจะมาชุมนุมร่วมกับชาวไทย ต้องยอมรับสภาพการถูกดำเนินคดี
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า กรณีตำรวจเข้าควบคุมตัวนักข่าวสำนักหนึ่ง เนื่องจากขณะนั้นตำรวจไม่สามารถแยกแยะจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ หากไม่มีการแสดงตัวหรือเครื่องหมายสัญลักษณ์สื่อมวลชนที่ชัดเจน หากพิสูจน์ตัวบุคคล มีหลักฐานระบุตัวตนว่าเป็นสื่อมวลชน พนักงานสอบสวนจะสั่งไม่ฟ้อง หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสื่อจริง ก็ต้องทำตามกระบวนการ ไม่ใช่เฉพาะผู้สื่อข่าว แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุม
ส่วนกรณีมีนักข่าวถูกกระสุนยางยิงใส่นั้น ตำรวจไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครคือสื่อมวลชน ม็อบ หรือกลุ่มแพทย์อาสา จึงขอความร่วมมือสื่อที่เข้าติดตามเหตุการณ์ ให้ลงทะเบียนเพื่อรับปลอกแขนสื่อมวลชน ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ตำรวจนครบาล ซึ่งสัญลักษณ์ปลอกแขนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมจะสามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใคร หากคนกลุ่มนี้ถูกลูกหลง ก็จะได้รับการเยียวยา. – สำนักข่าวไทย