กทม.3 ก.พ.- รองเลขาธิการศาลฯ แจง ร่างพ.ร.บ.โทษปรับพินัยฯ เปลี่ยนสภาพบังคับแบบใหม่ ให้ชำระเงินค่าปรับ ใช้กับความผิดเล็กน้อย ส่งผลคดีเข้าสู่ศาลน้อยลง ไม่มีบันทึกประวัติอาชญากร เผย มี พ.ร.บ. 183 ฉบับเปลี่ยนเป็นโทษปรับพินัยทันที ที่กฎหมายบังคับใช้
ตามที่ ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการพิจารณาและกำหนดมาตรการสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง
นายศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อธิบายถึงร่างดังกล่าวว่า เป็นการปรับเปลี่ยนสภาพบังคับแบบใหม่ ใช้กำหนดความผิดเล็กน้อยที่ไม่ร้ายแรง ที่ไม่ควรเป็นความผิดอาญา และเป็นกฎหมายกลางกำหนดความผิด ซึ่งเรียกว่าโทษปรับพินัย
โดยผู้กระทำความผิดต้องชำระเงินค่าปรับตามที่กำหนดให้รัฐ ซึ่งการปรับนั้นไม่ใช่เป็นโทษปรับทางอาญา ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ แต่หากไม่มีเงินค่าปรับจะถูกยึดทรัพย์ผ่อนชำระ หรือทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ หรือศาลอาจไม่สั่งปรับตักเตือนแทนก็ได้ ซึ่งต้องดูฐานะผู้กระทำผิดด้วย และไม่จำเป็นว่าผู้กระทำผิด 2 คน ต้องปรับเท่ากัน
ในระยะแรกหลังกฎหมายบังคับใช้ จะมีพ.ร.บ. 183 ฉบับ ที่มีโทษทางอาญา จะเปลี่ยนเป็นโทษปรับพินัยทันที คาดมีคดีเข้าข่ายโทษปรับทางพินัยหมื่นกว่าคดี ทั้งนี้ยังมีพ.ร.บ.อีก 30 ฉบับ ถ้าจะเปลี่ยนเป็นโทษปรับทางพินัยต้องนำเข้า ครม. เพื่อผ่านความเห็นชอบก่อนออกเป็นกฤษฎีกาก่อน เช่น พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง
สำหรับเจ้าหน้าที่หน้างานที่มีอำนาจในการปรับ เช่น เรื่องจราจรทางบก ก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่งทางบกดูแล หากผู้กระทำผิดไม่เสียค่าปรับ ก็สามารถส่งสำนวนให้อัยการส่งฟ้องศาลได้
ตัวอย่างความผิดเล็กน้อยที่เป็นโทษอาญา เช่น ไม่แสดงใบขับขี่ (ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท) สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ (ปรับไม่เกินสองพันบาท) จอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ (ปรับไม่เกินสองพันบาท) รวมถึง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มีฐานความผิดบางฐานที่ไม่ร้ายแรง เช่น ขออนุญาตชุมนุมแต่เคลื่อนขบวน ซึ่งมีความผิดอาญาแต่กฎหมายใหม่โทษจะถูกเปลี่ยนเป็นพินัย จะมีเพียงโทษปรับเท่านั้น
ผลดีที่เกิดขึ้นคือจะไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญากับคดีเล็กน้อย คดีเข้าสู่กระบวนการของศาลน้อยลง ส่วนประชาชนจะไม่มีการบันทึกลงประวัติอาชญากร สามารถการกลับคืนสู่สังคม ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าปรับ ส่วนกฎหมายพินัยจะลดการกระทำผิด หรือผู้กระทำผิดซ้ำ หรือลดโอกาสการทุจริตของเจ้าหน้าที่ หรือไม่นั้น คงต้องมีการติดตามผล มองว่าผลของการข่มขู่ยับยั้งยังคงมี ผู้กระทำผิดจะต้องจ่ายค่าปรับให้รัฐเหมือนเดิม พร้อมยืนยันว่าไม่กังวลหากจะมีกฎหมายโทษปรับพินัยออกมา เนื่องจากจะช่วยลดภาระงานของศาลลง.-สำนักข่าวไทย