กทม.-5 พ.ย.-“ธนาธร”นำทีมเข้ารับทราบข้อกล่าวหายุยง ปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการขึ้นเวทีชุมนุม
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ตามหมายเรียกฐาน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 116 ตามที่นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธะอิสระ เป็นผู้กล่าวหากรณีร่วมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และขึ้นกล่าวให้แนวคิดการชุมนุมต่อเนื่องที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
นายปิยะบุตร บอกว่า ยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงดำเนินคดีพวกตนตามความผิดมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น เพราะตนไม่เคยแสดงความเห็นที่เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดดังกล่าว จึงสงสัยว่านายสุวิทย์ นำข้อความใดมาแจ้งความกับพนักงานสอบสวน ซึ่งจะมีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวกับพนักงานสอบสวน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีการใช้มาตรา 116 มาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในห้องพนักงานสอบสวน มีพลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้กำกับการ สน.พญาไท มาร่วมสอบสวนด้วย
ส่วนบรรยากาศที่ สน.พญาไท มีมวลชนมาให้กำลังใจทั้ง 3 คน ด้วยการนำดอกกุหลาบแดงมามอบให้ ขณะที่ตำรวจก็จัดกำลังดูแลความเรียบร้อยโดยรอบ
ด้านนายกฤษฎางค์ นุชจรัส ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความทั้ง 3 คน ระบุว่าวันนี้เป็นการรายงานตัวตามหมายเรียกครั้งที่ 1 โดยยังไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นออกหมายจากการกระทำใด และเหตุการณ์ใด รู้เพียงว่าเป็นความผิดตามมาตรา 116 ต้องรอฟังจากพนักงานสอบสวนที่จะแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบและสอบปากคำทั้ง 3 คน โดยคาดว่าต้องทำคำร้องต่อพนักงานสอบสวนขอเวลารวบรวมพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา และเนื่องจาก มาตรา 116 เป็น ความผิดร้ายแรงโทษจำคุก 7 ปี จึงน่าจะใช้เวลาในการสอบสวน
หลัง 3 แกนนำ คณะก้าวหน้าเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กับพนักงานสอบสวน สน.พญาไท และพลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับออกมา
นายปิยบุตร กล่าวว่า การมารับทราบข้อกล่าวหา สืบเนื่องจากนายสุวิทย์ นำการกระทำหลายอย่างในอดีต ทั้งบทความเก่า หนังสือ และการบรรยายในห้องเรียน สมัยที่ยังเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรณีไลฟ์เฟซบุ๊กเรื่องข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม มาพูดคุยในคณะกรรมปรองดองสมานฉันท์มาสร้างความเชื่อมโยง
ส่วนของนายธนาธร และ น.ส.พรรณิการ์ อ้างอิงการบรรยายเรื่องงบประมาณของพระมหากษัตริย์ มาใช้ในการดำเนินคดี ซึ่งตนมองว่า ข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นเรื่องเก่า บางกรณีผ่านมานานกว่า 10 ปี แต่ถูกนำมาโยงเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการอภิปรายด้วยความปรารถนาดีเพื่อหาทางออก แต่กลับถูกมองเป็นความผิดในสายของนายสุวิทย์ทั้งหมด และยังไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะต้องนำเรื่องนี้ไปต่อสู้ในชั้นศาล
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่าเคยรวบรวมสถิติการดำเนินคดีตามมาตรา 116 หรือไม่แล้วศาลยกฟ้อง หรือยกคำร้องไปคดี เนื่องจากเห็นว่าบางคดีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการก็ได้ แต่ปัจจุบันเป็นการใช้กฎหมายมาตรา 116 ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการหาทางออกให้กับสถานการณ์การเมืองของไทย จำเป็นต้องนำข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ มาพูดคุยในคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเป็นเวทีปลอดภัย
ด้านนายธนาธร เรียกร้องให้สื่อมวลชนและสังคมทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจ และกฎหมายของฝ่ายบริหาร ในมุมกระทำต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง ส่วนเรื่องสำคัญที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์การเมืองตอนนี้ คือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง และหยุดดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่านายกรัฐมนตรีเป็นเงื่อนไขสำคัญในการหาทางออก หากไม่ลาออกก็จะไม่มีทางหาทางออกได้
ส่วน น.ส.พรรณิการ์ มองว่า ต่อไปการใช้กฎหมายมาตรา 116 เป็นเหมือนกระสุนด้าน เพราะไม่สามารถหยุดความเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนได้อีกต่อไป.-สำนักข่าวไทย