15 ก.พ. – ตำรวจไซเบอร์ประเมินสถานการณ์ในชายแดน หลังรัฐออกมาตรการกดดัน พบสถิติแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ลดลง พร้อมเฝ้าระวังการย้ายฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้แถลงข่าวการประเมินสถานการณ์แนวชายแดน หลังรัฐกดดันกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมตามแนวชายแดน ว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางตำรวจไซเบอร์ได้รับการประสานจาก ผอ.ศูนย์สั่งการชายแดนระหว่างไทย-พม่า ในการรับตัวชาวต่างชาติหลายสัญชาติที่ถูกผลักดันมาทาง อ.พบพระ จ.ตาก จำนวน 260 คน ซึ่งทั้งหมดทำงานอยู่ในกลุ่มของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยทั้งหมดให้การว่าไปโดยสมัครใจ และทั้ง 260 คน เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ไม่มีคนไทย ส่วนมากเป็นคนสัญชาติเอธิโอเปีย, เคนย่า และจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่จากการซักถามทั้ง 260 คน มี 1 คนให้การว่าถูกหลอกไปเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ และเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ กองกำลัง BGF ได้เข้าควบคุมตึกโครงการย่าไถ่ เมืองชเวโก๊กโก่ ช่วยเหลือเหยื่อแก๊ง Call Center 2,000 คน และกำลังส่งกลับมาทาง อ.แม่สอด จ.ตาก จากนั้นจะทำการสืบสวนสอบสวนข้อมูลของบุคคลดังกล่าว ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ขบวนการใด มีการหลอกลวงประชาชนในประเทศใด มีผู้เสียหายเป็นชาวไทยหรือไม่ และจะพิจารณาข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องในการหลอกลวง
หลังรับตัวมาแล้ว ต้องตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตัวมา และสอบถามประเด็นการทำงานว่าทำในกลุ่มแก๊งใด ผู้เสียหายเป็นใคร แต่จากข้อมูลเบื้องต้น กลุ่มนี้ทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชนของประเทศอื่นเป็นหลัก เช่นคนจีน และอินเดีย แต่หากพบว่ามีการหลอกลวงคนไทย มีการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยที่มีอัตราโทษเกิน 4 ปี ผู้ก่อเหตุร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะเข้าข่ายความผิดฐาน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ถ้าเป็นข้อมูลเกี่ยวข้องกับประเทศอื่น ก็จะส่งข้อมูลให้ประเทศที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหาเหยื่อต่อไป
ตอนนี้ทางตำรวจไซเบอร์ยังมีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือการลักลอบข้ามแดนไปทำงานในการขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านในการร่วมกันกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเฝ้าระวังการย้ายฐานปฏิบัติการไปพื้นที่อื่นตามแนวตะเข็บชายแดน ตอนนี้มีการข่าวว่าจะมีการย้ายฐานปฏิบัติการจากตะวันตก ไปที่ทางตะวันออก
แต่จากการปราบปรามในครั้งนี้ ส่งผลกระทบด้านดีในหลายเรื่อง และยังลดสถิติการแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ จากเดิมปีที่แล้วมีการแจ้งความอยู่ที่ 1,200 คดีต่อวัน ในเดือนมกราคมปีนี้ ลดลงเหลือ 1,100 คดีต่อวัน และในปัจจุบันที่มีการปฏิบัติการเหลือเพียง 800 คดีต้นๆ ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ในส่วนของประเทศอื่นๆ ต้องตรวจสอบและขอข้อมูลมาอีกครั้ง.-420 -สำนักข่าวไทย