ป.ป.ส. 4 ธ.ค. – พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด หรือ ศปก.ครส. เปิดการประชุม ศปก.ครส. ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับคณะที่ปรึกษาของ ศปก.ครส. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงาน ป.ป.ส. และผ่านระบบออนไลน์ไปยังศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้มอบนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด ระบุว่าปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลจะยกระดับการแก้ปัญหายาเสพติดให้เด็ดขาดและครบวงจรมากยิ่งขึ้น ทั้งการตัดเส้นทางลำเลียงยาเสพติด และยึดทรัพย์ของขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด รวมถึงจะแก้ปัญหาบำบัดผู้เสพยาเสพติดเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ โดยรัฐบาลจะขยายผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดจาก 10 จังหวัดนำร่อง สู่ทั่วประเทศ โดยคาดหวังให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดสีขาวปลอดจากยาเสพติด ในปี 2568 และจัดการยาเสพติดตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน ตนได้หารือการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2568 และจังหวัดต้นแบบ 12 จังหวัด ได้แก่ 1.น่าน (ท่าวังผาโมเดล) 2.ร้อยเอ็ด (ธวัชบุรีโมเดล) ขยายพื้นที่ต้้นแบบ 10 จังหวัด 1.เชียงใหม่ 2.ประจวบคีรีขันธ์ 3.ระยอง 4.สกลนคร 5.นราธิวาส 6.ปทุมธานี 7.อุทัยธานี 8.นครพนม 9.นครศรีธรรมราช และ 10.ตรัง ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย โดยขอความร่วมมือในการรองรับการขับเคลื่อนดังกล่าว ขณะเดียวกันเห็นว่าความยั่งยืนของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ที่กลไกภาคประชาชนในพื้นที่ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนมองเห็นเป็นปัญหาร่วมกัน โดยมีกองทุนแม่ของแผ่นดิน ที่พร้อมรองรับการส่งต่อความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมมุ่งขยายเพิ่มกระบวนการจัดการความรู้ EF เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็ก
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ของศูนย์ปฏิบัติการฯ (ศปก.ครส.) โดยจะมีแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เน้นใน 6 จุด ได้แก่ 1.การนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้เสพยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และผู้ถูกคุมความประพฤติคดียาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม เพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดและคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม 2. การสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อยุติแหล่งผลิต และการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติด 3. การปราบปรามนักค้ายาเสพติด ด้วยมาตรการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ และใช้มาตรการทางทรัพย์สินเพื่อทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติด 4.การขจัดปัจจัยเสี่ยง/พื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติด ตลอดจนแก้ไขปัญหากลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง 5.ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 6.การขับเคลื่อนกลไกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นเอกภาพ ตามการปฏิบัติ 8 เป้าหมายหลักในการดำเนินงาน 47 แนวทางการดำเนินงาน 15 แนวทางการปฏิบัติ และมีตัวชี้วัดที่กำกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย 21 ตัวชี้วัด ภายใต้ 5 ตัวชี้วัดหลัก
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ตามมาตรา 5(10) เพิ่มเป็น 14 จังหวัด 51 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ตาก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เลย และกาญจนบุรี สำหรับการประชุมครั้งต่อไปได้กำหนดจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567.-119-สำนักข่าวไทย