16 ก.ย. – รพ.เยียวยา ครอบครัวละ 1 แสนบาท ปมสลับเด็กไทย-เมียนมา ด้านที่ปรึกษา รมว.สธ. เผยมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก
กรณีพ่อโพสต์เรื่องราวลูกสาวแรกเกิดถูกสลับตัวจากโรงพยาบาล หลังจากลูกสาวหายใจเร็วเลยต้องแยกห้องกับแม่ แม่นอนห้องพักฟื้น ลูกนอนห้องอภิบาล ต่อมาพบว่าลูกของตัวเองมีลักษณะเปลี่ยนไป ทั้งคิ้ว และทรงผม ซึ่งแตกต่างจากภาพที่ถ่ายเก็บไว้ดู แต่พยาบาลยืนยันว่า หน้าเด็กเปลี่ยนไปทุกวัน โดยหลังออกจากโรงพยาบาล ด้วยความสงสัยจึงไปเรียกร้องให้มีการตรวจเลือด และ DNA ปรากฏว่า ลูกถูกสลับตัวจริงกับเด็กชาวเมียนมานั้น
ล่าสุด ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการพูดคุยเยียวยากับครอบครัวว่า ได้ข้อสรุปแล้ว ในส่วนของญาติได้มีเรื่องการเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยธรรมในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยได้มีการเยียวยาครอบครัวเป็นวงเงินครอบครัวละ 100,000 บาท ให้กับทั้ง 2 ครอบครัว และดูแลเด็กให้ได้รับการดูแลกับทางโรงพยาบาลต่อไปในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็น 2 ประเด็น ที่ทางผู้ปกครองของเด็กได้ตกลงและทำบันทึกข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนการดูแลรักษาเด็ก ดร.ธนกฤต กล่าวว่า เด็กก็ยังอยู่ในความดูแลของทางโรงพยาบาลมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดของทางเจ้าหน้าที่ช่วงที่มีการให้ยาปฏิชีวนะ และยาที่จะต้องให้กับเด็ก เพราะมีอาการป่วยเกิดขึ้นจึงต้องรีบดูแลเรื่องเด็กก่อนก็เลยทำให้สายรัดที่นำออกแล้วไว้ในเตียงเด็ก เกิดปัญหาตรงช่วงที่กำลังนำเด็กไปอาบน้ำ อาจมีการวางสลับผิดตำแหน่งกัน จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดในเรื่องนี้
ดร.ธนกฤต กล่าวว่า ทั้งนี้มีมาตรการที่ได้นำเสนอไปในเรื่องของการใช้ภายในเกี่ยวกับเรื่องวงจรปิดที่จะต้องมีการบันทึกภาพไว้ด้วย จะได้เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งในอนาคต หากเกิดมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอีกจะได้มีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย จะได้ไม่ต้องไปดูเรื่องของการตรวจดีเอ็นเอประกอบ โดยภาพวงจรปิดจะเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดอีก แต่อย่างไรก็ตามเป็นครั้งแรกของทางโรงพยาบาลนี้ที่เกิดข้อผิดพลาดในครั้งนี้
เมื่อถามถึงเจ้าหน้าที่ที่เกิดข้อผิดพลาดมีการสลับตัวเด็กจะมีความผิดหรือไม่ ดร.ธนกฤต กล่าวว่าตอนนี้ให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาว่า เห็นสมควรในการที่จะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่นาน เพราะข้อเท็จจริงไม่ได้มีอะไรที่ผิดแปลกไปจากเรื่องนี้มาก คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน คงจะมีการชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง โดยสาธารณสุขจังหวัดได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว
ดร.ธนกฤต กล่าวว่า เรื่องของมาตรการที่สำคัญในเรื่องของการดูแลเรื่องเด็ก ให้เพิ่มมาตรการไป ส่วนไหนที่ขาด เช่น หลักปฏิบัติเวลาที่มีการเอาสายรัดข้อมือเด็กที่จะแสดงถึงประวัติการเกิดของเด็กทั้งหลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ปกติไม่เคยเกิดเคสแบบนี้เกิดขึ้น แต่กรณีนี้อาจจะเกิดความผิดพลาดของทางเจ้าหน้าที่เอง เราต้องขออภัยในเรื่องนี้ด้วย และเพิ่มเรื่องวงจรปิดเข้าไป รวมถึงมาตรการที่จะต้องเข้มงวดในเรื่องการนำเด็กเคลื่อนย้าย ที่ผ่านมาเกิดจากการให้ยา ให้น้ำเกลือเสร็จแล้ว จะต้องเอาเด็กไปอยู่ในมุมที่ชำระล้าง หรืออาบน้ำหรือเช็ดตัว ก็เลยเกิดปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็ต้องใช้มาตรการควบคุมให้รัดกุมมากขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ก็อาจต้องปรับให้เจ้าหน้าที่คนใหม่ที่มีความพร้อมมาดูแลตรงนี้แทน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก.- 419- สำนักข่าวไทย