28 มี.ค. – นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร้องสภาทนายความให้ตรวจสอบนักข่าวรับเงินเพิ่มลอต 2 เซ่นพิษ “ทนายตั้ม” แฉ
นางสาว น.รินี เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึง ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่เกิดคดีที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปรากฏข้อมูลว่ามีนักข่าวบางส่วนรับเงินจากแหล่งข่าว โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีนั้นยังไม่แล้วเสร็จ และล่าสุดจากการแถลงข่าวของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ก็มีการเผยแพร่ข้อมูลว่ามีนักข่าวและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับเงินจากแหล่งข่าวและเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ โดยเฉพาะอุปนายก ตัวย่อ ว. จึงจะขอให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับคดีดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้นายจีรพงษ์ ยังบอกอีกว่า เมื่อวานนี้ตนเองได้พบกับทนายตั้ม และได้พูดคุยกันเล็กน้อยและสอบถามถึงข้อเท็จจริง โดยชี้แจงว่าอุปนายกของสมาคมฯ ตัวย่อ ว. ในอดีตมีหลายคน ซึ่งทนายตั้มก็ยืนยันว่าข้อมูลการรับเงินเป็นไปตามที่เผยแพร่ และเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ได้พาดพิงถึงตัวองค์กร ส่วนจะเป็นอุปนายกท่านใดนั้น ให้ทางสมาคมฯ ไปตรวจสอบกันเอง อย่างไรก็ตาม นายจีรพงษ์ ยอมรับว่าการที่ทนายตั้มออกมาเปิดเผยแค่ตัวย่อ ทำให้ยากที่องค์กรจะตรวจสอบ เพราะไม่อยากพุ่งเป้าไปที่คนใดคนหนึ่ง เพียงเพราะมีตัวย่อ ว. เหมือนกัน จะกลายเป็นการกล่าวหาบุคคลนั้น ทั้งที่ตัวย่อดังกล่าวมีหลายคน แต่ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ยินดีที่จะถูกตรวจสอบหรือถูกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียกมาให้ข้อมูล
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ากรณีนี้จะสามารถตรวจสอบมรรยาททนายความของทนายตั้มได้หรือไม่ นายจีรพงษ์บอกว่า จะมีการหารือในประเด็นนี้กับสภาทนายความด้วย แต่ก็เป็นเพียงประเด็นร้อง
ด้านนายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า การตรวจสอบนักข่าวที่รับเงินจากแหล่งข่าวในคดีแรกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบข้อเท็จจริงพยานไปเกือบเสร็จแล้ว เหลืออีกแค่บางปากก็จะเสร็จสมบูรณ์ และเมื่อมีการยื่นขอให้ตรวจสอบกรณีที่ทนายตั้มแฉเพิ่มเติม ตนเองก็จะรับเรื่องไว้ และคาดว่าน่าจะสอบพยานเพิ่มเติมอีกไม่มาก จากเดิมที่สภาทนายความตั้งกรอบระยะเวลาไว้ 90 วัน ตอนนี้ใกล้ครบกำหนดแล้ว ดังนั้นก็คาดว่าจะขยายเวลาออกไปอีกประมาณ 1 เดือน ก็น่าจะเพียงพอในการตรวจสอบทั้ง 2 กรณี ก่อนจะมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบในคราวเดียวกัน
ส่วนกรณีที่ทนายตั้ม ออกมาแถลงข่าวพาดพิงถึงบุคคลอื่นในที่สาธารณะ จนทำให้เกิดความเสียหายนั้น ผิดมรรยาททนายความหรือไม่ ดร.วิเชียร บอกว่ายังไม่ได้ดูการแถลงข่าวอย่างละเอียด แต่โดยหลักการสภาทนายความมีข้อบังคับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำหน้าที่ในศาล หรือสถานที่ใด หากพิจารณาแล้วหมิ่นเหม่หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ ก็จะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการร้องเป็นคดีมรรยาททนายความได้ ซึ่งการตรวจสอบมรรยาททนายความนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนายกสภาทนายความ แต่เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการมรรยาททนายความจะพิจารณาหากเห็นว่าพฤติกรรมของทนายความท่านใดเข้าข่ายผิดข้อบังคับของทนายความ หรือมีผู้ร้องเรียนมรรยาททนายความคนดังกล่าว ก็สามารถตั้งเรื่องตรวจสอบได้ จากนั้นเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบแล้วก็จะผลความเห็นกลับมาที่นายกสภาทนายความ ให้พิจารณาถึงบทลงโทษหากพบว่าฝ่าฝืนข้อบังคับทนายต่อไป
ส่วนที่ทนายความของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะยื่นฟ้องเอาผิดทนายตั้มนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของคู่กรณีที่สามารถกระทำได้ ซึ่งก็ต้องรอผลตัดสินของศาลถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม สภาทนายความมีข้อบังคับข้อหนึ่งว่า หากศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในคดีที่ไม่ใช่ข้อหาประมาท หรือความผิดลหุโทษ และจำเลยเป็นทนายความ ก็จะมีการส่งเรื่องมาที่สภาทนายความเพื่อให้ถอดถอนรายชื่อจากการเป็นทนายความอยู่แล้ว และคู่กรณียังสามารถร้องเรียนต่อสภาทนายความควบคู่กันได้ด้วย
ทั้งนี้ นายกสภาทนายความ ฝากถึงทนายความ ว่าทนายทุกคนสามารถที่จะแถลงข่าวในประเด็นต่างๆ ได้ แต่จะต้องมีเหตุผลและหลักฐานที่เพียงพอ รวมถึงต้องไม่ฝ่าฝืนข้อบังคับของมรรยาททนายความ
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าวในคดีแรกล่าช้า ทั้งที่สอบข้อเท็จจริงพยานไปเกือบเสร็จแล้ว เนื่องจากยังรอพยานปากสำคัญอย่าง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าให้ปากคำอยู่ ซึ่งมีรายงานอีกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพิ่งจะประสานสภาทนายความมาเมื่อคืนนี้ ว่าอาจจะเข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า
ขณะที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของทนายตั้ม ยังเปิดเผยข้อมูลว่า อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ อักษรย่อ ว. ได้รับเงินจากบัญชีม้าส่วยตั้งแต่ปี 2020 เป็นรายเดือน ๆ ละ 15,000 บาท ต่อมาปี 2021-2022 ก็ได้เพิ่มเป็นเดือนละ 30,000-50,000 บาทด้วย.-414-สำนักข่าวไทย