กทม. 1 เม.ย.-“ชัยวุฒิ” ลั่นโทษหนัก เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล กรณี 9Near คาดไม่ถึง 55 ล้านคน เร่งขอศาลมีคำสั่งปิดกั้นเว็ป ประสาน AIS True NT ช่วยสกัด ด้าน ธปท. แจงข้อมูลประชาชนรั่วไหล ไม่ได้มาจากสถาบันการเงิน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า กรณี ผู้ใช้งานบัญชี “9Near” อ้างโพสต์ขายข้อมูล แอบอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านรายการ บนเว็บไซต์ Bleach Forums โดยอ้างว่าได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในไทย (Somewhere in government) และโพสต์ตัวอย่างไฟล์ ซึ่งมี ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วันเกิด เบอร์โทรศัพท์ และเลขประจำตัวประชาชน รวมทั้งมีการโพสต์ลักษณะข่มขู่หน่วยงานเรียกค่าไถ่ และโจมตีหน่วยงานรัฐ เพื่อให้ประชาชนตื่นตระหนก ยืนยันข้อมูลบัตรประชาชนของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้รั่วไหล มีมาตรฐานคุมเข้มสูงสุด
นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานผู้ให้บริการ Domain name เว็บไซต์ 9near.org (Namesilo, LLC) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในต่างประเทศ เพื่อขอปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว ตั้งแต่วันพุธที่ 29 มี.ค. เวลา 19.00 น. กระทรวงดิจิทัลฯ อยู่ระหว่างดำเนินการขอคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาจเข้าข่ายความผิดจากนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง และประสานผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ (เช่น AIS True NT) เพื่อช่วยปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย เร่งประสานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เพื่อสอบถามข้อมูลว่ามีหน่วยงานภาครัฐแจ้งว่ามีข้อมูลรั่วไหลหรือไม่ โดยความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯ โทษสูงสุดจำคุก 5 ปี และการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างผิดกฎหมาย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาจถูก จำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อ 1 กรรม หรือต่อผู้เสียหาย 1 คน ได้ ซึ่งทำให้คนร้ายอาจถูกลงโทษจำคุกเป็นร้อยปี
ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ตรวจสอบระบบของธนาคารแล้ว ไม่พบข้อมูลรั่วไหลจากธนาคาร นอกจากนี้ ในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน mobile banking ต้องมีหลายองค์ประกอบ ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องมีรหัสส่วนตัวในการเข้าใช้ รวมทั้งจะต้องยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ สถาบันการเงินมีระบบป้องกันข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด และมีระบบตรวจจับความผิดปกติ เพื่อให้การให้บริการทางการเงินมีความมั่นคงปลอดภัย ขณะเดียวกัน ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 อย่างเคร่งครัด
คำแนะนำสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันภัยเบื้องต้น
1. ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจใช้ข้อมูลที่รั่วไหลออกไป เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หรือที่อยู่ ในการหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน
2. หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินกับบุคคลอื่น ผ่านโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีเมล ที่ไม่น่าเชื่อถือ
3. หากถูกหลอกลวงในการให้ข้อมูลส่วนตัว หรือพบความผิดปกติของการทำธุรกรรม ให้เปลี่ยนรหัสผ่าน Mobile Banking ทันที และติดต่อธนาคารที่ใช้บริการผ่านช่องทาง Hotline รวมทั้งดำเนินการแจ้งความโดยเร็ว.-สำนักข่าวไทย