fbpx

กทปส.เปิดงบปี64ที่1.1พันล้านบาทมุ่งลุยวิจัย5G

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. กทปส. เผยงบฯ วิจัย ปี 64 แตะ 1.1 พันล้านบาท ลุยงานวิจัย 5G เต็มสูบ เล็งผลักดัน “ดิจิทัลอีโคซิสเต็ม – วิทยุดิจิทัล” สร้างประโยชน์สาธารณะ นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวว่า กรอบวงเงินการจัดสรรเงินจากกองทุน ประจำปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,100 ล้านบาท มีเงื่อนไขการอนุมัติงบฯ จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G โครงข่ายไร้สายประสิทธิภาพสูง สู่การพัฒนางานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนใน 3 กลุ่มสำคัญ ดังนี้ ‘กิจการโทรคมนาคม’ การสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ พร้อมปั้นบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน 5G ‘กิจการกระจายเสียง/โทรทัศน์’ การพัฒนาระบบวิทยุดิจิทัล และเทคโนโลยี 4K 8K ในกิจการโทรทัศน์ และ ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบการสื่อสารต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส   นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวงเงินดังกล่าวที่ กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรนั้น แบ่งออกเป็นประเภททุนต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด คือ ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) โครงการที่เกิดจากผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงิน กทปส.  ภายใต้วงเงิน 400 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 5 เมษายน 2564 ทุนประเภทที่ 2 ทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ประกาศกำหนด โดยแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ ทุนตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน และ ทุนต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมวงเงิน 700 ล้านบาท ในปี 2563 กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรงบฯ 2,900 ล้านบาท ผลักดันโครงการต่าง ๆ ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญดังนี้ 1. ด้านบริการเพื่อสังคม (USO) การดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง 2. ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การศึกษาวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร 3. ด้านพัฒนาศักยภาพบุคลากร (HRD) การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 4. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) ครอบคลุมด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาทิ ‘มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์’ (μTherm-FaceSense) นวัตกรรมตรวจวัดอุณหภูมิสัญชาติไทย ที่แม่นยำเทียบเท่าต่างชาติ ‘ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีวีอาร์’ (VR) การพัฒนาศูนย์เรียนรู้และหลักสูตรเทคโนโลยีเสมือน หนุนปั้นบุคลากรรับเทรนด์ดิจิทัล โครงการพัฒนา ‘คลาวด์ แอนด์ เอดจ์ คอมพิวติ้ง’ (Cloud & Edge Computing) สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล ฯลฯ-สำนักข่าวไทย.

ชูแผนวิจัย Quick win หนุนไทยเป็นศูนย์กลางสุวรรณภูมิศึกษา

กทม. 9 ธ.ค.63 – สกสว. พร้อมเดินหน้าวิจัยแผนงานสุวรรณภูมิศึกษา ช่วยตอบคำถามการเกิดขึ้น และวิวัฒนาการของแผนดินสุวรรณภูมิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  จัดประชุมหารือจัดทำแผนงานสุวรรณภูมิศึกษา โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะพัฒนาแผนวิจัย รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ด้านวิเทศสัมพันธ์  กล่าวว่า จากการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 มีความเห็นให้  สกสว.และ สอวช. ส่งเสริมงานวิจัยเรื่อง สุวรรณภูมิ – ทวารวดี – ศรีวิชัย ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. โดยมอบหมาย สกสว. บรรจุประเด็นเพิ่มเติมในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2564 และจัดงบประมาณสนับสนุน นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีแผนงานตั้งศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งเป็น […]

มหกรรมการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

กทม. 9 ธ.ค.63 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ ฯ จัดงานมหกรรมการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพ และการป้องกันประเทศ ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อศักยภาพของกองทัพและการปกป้องประเทศ (Thailand’s Armament and National Defense Research and Industry) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย มีความพร้อมในการรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ปลอดพ้นจากการคุกคามทุกรูปแบบส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ สามารถบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้นั้น กองทัพบกจึงร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมดำเนินโครงการวิจัยทางด้านยุทโธปกรณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557-2563 นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ  กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดำเนินการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านยุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพและการป้องกันประเทศ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและโจทย์ความต้องการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ของกองทัพในอนาคต เป็นระยะเวลา 5 ปี รวม 113 […]

การ์มินเปิดสำนักงานสาขาในไทยรับเทรนด์สุขภาพ

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. การ์มินประกาศตั้งสำนักงานในประเทศไทย เสริมแกร่งแบรนด์ในภูมิภาคอาเซียน การ์มิน (เอเชีย) คอร์ปอเรชั่น ประกาศการ์มินจะขยายธุรกิจในเอเชียด้วยการเปิดสำนักงานสาขาใหม่ที่ประเทศไทยในกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2564 นี้ เพื่อการให้บริการที่ครอบคลุมครบวงจร ทั้งสินค้าและบริการต่าง ๆ สำหรับลูกค้าไทย การ์มินได้เข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยมีสมาร์ทวอทช์รุ่นเรือธงอย่าง Forerunner, fenix ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่สนใจกีฬาและการออกกำลังกาย (ฟิตเนส) รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ล่าสุดอย่าง Venu และ Instinct ที่ออกแบบเพื่อผู้ใช้ที่ชอบกิจกรรมแอ็กทีฟ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภคในตลาดประเทศไทย นับตั้งแต่การ์มินก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การ์มินได้ลงทุนด้านนวัตกรรม วิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง การขยายธุรกิจของการ์มินล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแบรนด์กับตลาดในประเทศไทยซึ่งมีประชากร 70 ล้านคนนับเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยการ์มินมั่นใจว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และการสนับสนุนจากพันธมิตร โดยเฉพาะจาก บริษัท จีไอเอส จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทซีดีจี จะช่วยให้บริการเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนแบรนด์ให้เติบโตเพิ่มขึ้น บริษัท จีไอเอส จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายการ์มินในประเทศไทยอย่างเป็นทางการตลอด 20 ปีที่ผ่านมานับเป็นกำลังหลักสำคัญในการขยายและสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์การ์มินในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดรวมไปถึงการสนับสนุนในอนาคต ของบริษัท จีไอเอส จำกัด ส่งผลให้แบรนด์การ์มินกลายเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในตลาดสมาร์ทวอทช์ของประเทศไทย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น และยังมีความต้องการในการจัดการด้านสุขภาพของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 รายได้ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกอล์ฟ และการดำน้ำของการ์มิน ในตลาดประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยจะมีอัตราการเติบโตถึง 130% ยิ่งไปกว่านั้นสมาร์ทวอทช์ Venu Sq ที่เพิ่งเปิดตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ที่ได้รับความนิยมอย่างมากส่งผลให้สินค้าในกลุ่มฟิตเนสเติบโตมากกว่า 20% อีกด้วย ความต้องการสมาร์ทวอทช์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การขยายตัวของแบรนด์ต้องก้าวสูงขึ้น โดยการ์มินได้ตั้งทีมการตลาด ทีมขาย ทีมบริการลูกค้าและบริการหลังการขาย เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าที่สมบูรณ์แบบทั้งก่อนและหลังการขาย ช่วยอำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้บริโภค โดยการ์มินจะมีบริการรับสินค้าถึงหน้าบ้านแบบ door-to-door (D2D) พร้อมบริการหลังการขายสำหรับผลิตภัณฑ์การ์มิน โดยจะเริ่มบริการดังกล่าวในไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ ด้วยร้านค้ากว่า 5,000 แห่งและร้านขายตรงมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก การ์มินยังคงให้ความสำคัญกับนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนานับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2543 เพื่อมุ่งผลิตผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่สร้างความแตกต่างในชีวิตประจำวันรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอากาศยาน การเดินเรือ กิจกรรมกลางแจ้ง ผลิตภัณฑ์ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) และยานยนต์-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสแจงดำเนินคดี496ยูอาร์แอลโพสต์ข้อความผิดกฎหมาย

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. ดีอีเอส ยื่นดำเนินคดี 496 ยูอาร์แอลโพสต์ละเมิดผิดกฎหมาย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กองกฎหมาย ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ร่วมกันตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดบนสื่อสังคมออนไลน์ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 13 ต.ค. – 4 ธ.ค. 63 ได้รวบรวมหลักฐานและดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ทั้งสิ้น 496 ยูอาร์แอล แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 284 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 81 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 130 ยูอาร์แอล และอื่นๆ 1 ยูอาร์แอล ในส่วนนี้ ได้ดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว จำนวน 19 บัญชี แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 15 ราย และ ทวิตเตอร์ 4 ราย ส่งให้ บก.ปอท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่วนการดำเนินการของเพจอาสา จับตา ออนไลน์ ในเดือน พ.ย. 63 ได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายจากประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 11,914 ยูอาร์แอล จากการตรวจสอบ พบว่า มีจำนวนที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย 826 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 357 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 231 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 160 ยูอาร์แอล, Tiktok 4 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 74 ยูอาร์แอล โดยศาลมีคำสั่งแล้วจำนวน 765 ยูอาร์แอล และอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 61 ยูอาร์แอล รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (แพลตฟอร์ม) ที่ไม่ดำเนินการปิด/ลบเนื้อหาผิดกฎหมายภายใน 15 วันตามที่มีการส่งหนังสือไปแจ้งเตือนให้ดำเนินการ โดยในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีการดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว 2 ชุด และภายในสัปดาห์นี้จะมีการทำหนังสือแจ้งเตือนไปอีก 1 ชุด โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนชุดที่ 5 และครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 63 จำนวน 718 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก  487 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 98 ยูอาร์แอล คงเหลือ 389 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 137 ยูอาร์แอล ปิดแล้วทั้งหมด, ทวิตเตอร์ 81 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 8 ยูอาร์แอล คงเหลือ 73 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 13 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 6 ยูอาร์แอล คงเหลือ 7 ยูอาร์แอล โดยในชุดที่ 5 นี้ อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบมอบหมายผู้ แทนร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 ต่อ ปอท. ต่อไป สำหรับชุดที่ 6 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 และครบกำหนด 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 312 รายการแบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 167 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว  49 ยูอาร์แอล คงเหลือ 118 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 111 ยูอาร์แอล ปิดแล้วทั้งหมด, ทวิตเตอร์ 28 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 5 ยูอาร์แอล คงเหลือ 23 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 6 ยูอาร์แอลปิดแล้ว 1 ยูอาร์แอลคงเหลือ 5 ยูอาร์แอล จากนี้เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอความเห็นชอบร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 กับเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป “ภายในสัปดาห์นี้ เตรียมทำหนังสือแจ้งเตือนต่อแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นชุดที่ 7 จำนวน 607 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก331 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 22 ยูอาร์แอล คงเหลือ 309 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 144 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 65 ยูอาร์แอล คงเหลือ 79 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 128 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว  6 ยูอาร์แอล 122 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 4 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 2 ยูอาร์แอล คงเหลือ 2 ยูอาร์แอลทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบัญชีจริงหรืออวตาร เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลได้ การโพสต์ใดๆ ควรเป็นไปอย่างมีวิจารณญาณสร้างสรรค์และเคารพกฎหมาย”นายพุทธิพงษ์กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ฝนดาวตกเจมินิดส์ หนึ่งในฝนดาวตกที่น่าดูที่สุดในรอบปี

“ฝนดาวตกเจมินิดส์” (Geminids) เป็นฝนดาวตกชุดที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนคล้ายวงโคจรดาวหาง ฝนดาวตกชุดนี้เป็นหนึ่งในฝนดาวตกไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย ต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดเป็นดาวหาง ฝนดาวตกชุดนี้จะปรากฏให้เห็นประมาณวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี ช่วงที่มีอัตราดาวตกสูงสุดประมาณวันที่ 13-14 ธันวาคม มีอัตราดาวตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 120 ดวง/ชั่วโมง

วช.สานสัมพันธ์ทูตไทย-จีน สร้างความร่วมมือแห่งอนาคต

กทม. 8 ธ.ค.63 – สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เดินหน้าความสัมพันธ์ทูตไทย – จีนตั้งเป้าหมายสู่การทำวิจัยสร้างองค์ความรู้แห่งอนาคตของทั้งสองประเทศ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อ ความสัมพันธ์การทูตไทย – จีน 45 ปี : การแบ่งปันประสบการณ์และความร่วมมือในอนาคต ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University : HQU) ระหว่างวันที่ 8 – 9 ธันวาคม 2563 ณ ชลพฤกษ์รีสอร์ท อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์ ดร.โภคิณ พลกุล นายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน ให้การต้อนรับ โดยมี นายสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์เจิ้ง […]

ทวิตเตอร์เทรนด์ปี 2020 สร้างการเชื่อมโยงเกิดชุมชนใหม่ช่วยเหลือกันมากขึ้น

กรุงเทพฯ 8ธ.ค. ทวิตเตอร์ สรุปภาพรวมการใช้งานในปี 2020 ปีแห่งความท้าทาย ดึงชาวทวิตภพใกล้ชิดกันมากขึ้น สร้างปรากฎการณ์ทวีตเพื่อเชื่อมโยง สร้างชุมชนใหม่ และช่วยเหลือกัน นายอาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ กล่าวว่า ปีนี้ผู้คนใช้งานทวิตเตอร์ไม่ใช่แค่เพียงเข้ามาอัปเดตว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นทั่วโลกเท่านั้น แต่เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะว่าต้องอยู่ห่างกัน สถานการณ์ที่ท้าทายในปี 2563 นี้ได้แสดงถึงบทบาทของทวิตเตอร์ในการขับเคลื่อนการสนทนาแบบเรียลไทม์และช่วยให้ผู้คนเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน คนไทยที่ใช้ทวิตเตอร์มีความผูกพันต่อกัน บทสนทนากับผู้คนใหม่ๆ หลากหลายมากขึ้นและเกิดหัวข้อการสนทนาใหม่ๆ ทำให้การสนทนาบนทวิตเตอร์เป็นการเชื่อมต่อและเป็นบทสนทนาระหว่างกันอย่างแท้จริงในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปี 2564 เราสามารถเห็นได้ชัดว่าทวิตเตอร์คือสถานที่เพียงแห่งเดียวที่มีความคึกคักสนุกสนานและน่าสนใจที่สุด และยังมีการเกิดโมเม้นต์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเราก็หวังว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกในอนาคต แม้ว่าในปี 2563 ชีวิตของทุกคนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือเรียนจากที่บ้าน รวมทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม ผู้คนต่างมองหาสถานที่ซึ่งจะเป็นที่ไหนก็ได้ที่ทำให้พวกเขาเกิดความสบายใจ ผู้คนต่างเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เพื่อเชื่อมโยงถึงกัน อยู่ด้วยกันและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปี 2563 จึงนับเป็นปีที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สัมผัสได้จริงยิ่งกว่าเดิม ผู้คนต่างใช้ทวิตเตอร์เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงโลก ช่วยเหลือผู้อื่น ให้กำลังใจกัน เป็นแรงบันดาลใจให้กันหรือแม้แต่การสร้างเสียงหัวเราะ ตลอดจนการใช้ทวิตเตอร์เพื่อโปรโมตธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายอาร์วินเดอร์ กล่าวอีกว่า ผู้คนที่เข้ามาใช้ทวิตเตอร์นั้นเพราะต้องการเชื่อมโยงระหว่างกันได้อยู่ด้วยกันและให้กำลังใจกันและกัน ปีนี้การได้พบปะพูดคุยกันกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นทวิตเตอร์จึงช่วยให้ผู้คนสามารถมารวมตัวอยู่ด้วยกันผ่านการพูดคุยที่มีความสนุกสนานและเชื่อมโยงความสนใจต่อเรื่องต่างๆ ที่ผู้คนชื่นชอบ และเรายังได้เห็นหลายคนใช้ทวิตเตอร์ในการช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย นอกจากนี้ คนไทยยังไม่เคยขาดอารมณ์ขันและความสนุก โดยจะชอบทวีตข้อความด้วยการใช้อิโมจิที่แสดงถึงความสุข เสียงหัวเราะ และความรักต่อกันอย่างต่อเนื่อง บทสนทนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกม (#เกมดีบอกต่อ), ไปจนถึงการรีวิวอาหาร (#อร่อยไปแดก), การทำอาหาร (#ทำอาหาร),#ชุมชนนักสร้างสรรค์ และอีกมากมาย ชุมชนต่างๆ บนทวิตเตอร์ทำให้คนไทยได้เชื่อมโยงและพูดคุยกัน ส่วนบทสนทนาที่เกี่ยวกับวงการบันเทิงและ K-Pop ยังคงเป็นหัวข้อยอดนิยม นอกจากนี้คนไทยเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เพื่อสนทนาเรื่องสำคัญและการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม และเสียงสะท้อนของ LGBT เพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมานี้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองกลายเป็นหัวข้อบทสนทนาที่ได้รับความนิยมซึ่งมาพร้อมกับแฮชแท็กต่างๆ อย่าง#whatishappeninginthailand และ #หยุดคุกคามประชาชน ทวีตยอดนิยมในประเทศไทย มีบทสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญบนทวิตเตอร์ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายก็ตามแต่คนไทยยังแสดงออกผ่านความสนุกและแพสชั่น สำหรับทวีตที่มีคนกดไลค์มากที่สุดเป็นทวีตจากไบร์ท @bbrightvc ส่วนทวีตที่ได้รับการโควตทวีตมากที่สุด เป็นทวีตจาก @GMMTV และทวีตที่มีการรีทวีตมากที่สุดเป็นทวีตจากแบมแบม @BamBam1A แฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดในประเทศไทย แฮชแท็กกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพื่อทำให้ผู้คนและชุมชนต่างๆมารวมตัวกัน ขับเคลื่อนบทสนทนาและแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ แฮชแท็กศิลปินที่มีการทวีตถึงมากที่สุดในปี 2563 คือ เป๊ก ผลิตโชค (#เป๊กผลิตโชค) ลิซ่า แบล็กพิงก์ (#lisa)  และ แบมแบม GOT7 (#bambam) โดยเทรนด์ใหม่ในปีนี้คือการเติบโตของบทสนทนาที่เกี่ยวกับนักแสดงซีรีส์วาย รวมถึงแฮชแท็กที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม นอกจากนี้ปี 2563 ยังเป็นปีที่มีข่าวใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายเรื่องบนทวิตเตอร์จนกลายเป็นข่าวดัง และข่าวที่อัปเดตสถานการณ์แบบเรียลไทม์ จึงไม่น่าแปลกใจหากว่า #โควิด19 จะเป็นแฮชแท็กที่มีคนทวีตถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของแฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดในประเทศไทย ในปีนี้ #covid19 (และแฮชแท็กเรื่องเดียวกัน) คือแฮชแท็กที่ถูกทวีตทั่วโลกไปเกือบ 400 ล้านทวีต และเป็นแฮชแท็กที่ทำให้เราพูดถึงหัวข้ออื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  แอคเคาท์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดในประเทศไทยในปีนี้มีการเติบโตทั้งการสนทนา ชุมชน และผู้คนที่หลากหลายมากขึ้นบนทวิตเตอร์ แอคเคาท์ที่มีการทวีตถึงมากที่สุดในปี้นี้แสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปล้วนเป็นกระบอกเสียงบนทวิตเตอร์ โดยจาก 9 ใน 10 ของแอคเคาท์มีการทวีตถึงมากที่สุดเป็นแอคเคาท์ทั่วไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของฟอลโลเวอร์ แต่ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ที่ตรงกัน ทวิตเตอร์จึงเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถเห็นบทสนทนาในทุกด้านและเชื่อมโยงระหว่างกันได้-สำนักข่าวไทย.

โรดแมปวิจัย 10 อุตสาหกรรมฟื้นเศรษฐกิจ

กทม. 8 ธ.ค.63 – สกสว. เดินเครื่องพัฒนาโรดแมปวิจัย 10 อุตสาหกรรม หวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0 ครั้งที่ 3  ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า การจัดทำของแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ในโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0  เป็นโครงการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 สาขา เพื่อกำลังสำคัญในการสร้างความเติบโตทางนวัตกรรมของประเทศ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดในประเทศและต่างประเทศได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จะดำเนินการวางกรอบการวิจัย และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มต้นด้วย 5 อุตสาหกรรมเป้ามหาย 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ  และ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ส่วนอีกกลุ่มเข้าหมายถัดไป  คือ […]

เฟซบุ๊กรายงานที่สุดแห่งปี 2020

กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.- เฟชบุ๊กรายงาน “ที่สุดของปี 2020” โควิด-19 การชุมชนุม สิ่งแวดล้อม ติดอันดับเรื่องที่คนสนใจมากที่สุด เฟชบุ๊กผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ รายงานสรุป “ที่สุดของปี 2020” (2020 Year in Review) ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนได้ใช้งาน เฟชบุ๊ก เพื่อเชื่อมต่อถึงกันอย่างมีความหมายอย่างไรบ้าง โดยรายงานปีนี้ประกอบขึ้นจาก 20 เหตุการณ์สำคัญของปีที่จัดเรียงตามธีมของเนื้อหาหลักหกประเภท การตื่นตัวด้านสังคม ในปี 2020 นี้ เราเห็นถึงความตื่นตัวและการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อผู้คนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชุมชนผู้ใช้งานทั่วโลกของเฟชบุ๊กได้ยกเรื่องที่สำคัญต่อพวกเขาขึ้นมาพูดคุย เช่นกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เป็นต้น โดยสามสัปดาห์หลังจากที่เขาเสียชีวิต บทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ Black Lives Matter นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า หรือเฉลี่ยเป็นการพูดถึงบน Facebook ถึง 7.5 ล้านครั้งในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการนำหัวข้อ #whatshappeninginthailand มาใช้อย่างมีวัตถุประสงค์และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน หรือการพูดคุยแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับเหตุการณ์น่าสลดใจที่เบรุต ล้วนแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานชาวไทยให้ความสนใจกับเรื่องทางสังคมและกล้าที่จะพูดถึงเรื่องเหล่านั้น  ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชน ผู้คนยังใช้ เฟชบุ๊กเพื่อช่วยเหลือชุมชน แม้ว่าทางกายภาพจะห่างไกลกันก็ตาม โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ใช้งานหันไปอุดหนุนสินค้าและบริการท้องถิ่น ดังที่สะท้อนให้เห็นว่ามี Stories ทั่วโลกกว่า 47 ล้านStories ที่ถูกสร้างขึ้นบน Instagram ติดสติกเกอร์ “Support Small Business” ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้คนกว่า 650,000 คน ในประเทศไทยเขียนโพสต์และคอมเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์บน Facebook ในช่วงล็อกดาวน์เดือนเมษายน ก่อนที่จะถึงวันหยุดจริง  และเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับวิถีชีวิตคนมากที่สุดคือ โควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แฮชแทกที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 ในประเทศไทย 5 อันดับแรกคือ #workfromhome #stayhome #stayathomechallenge #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ และ #socialdistancing ไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้คนยังสามารถหาทางเชื่อมต่อถึงกันได้ในยุคของโรคระบาดทั้งๆ ที่ต้องเจอกับข้อจำกัดต่างๆ นอกจากนี้สติกเกอร์ Stay Home ของ Instagram ยังถูกส่งมากกว่า 100 ล้านครั้งทั่วโลกในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดตัว และธุรกิจต่างๆ ก็ใช้ประโยชน์จากสติ๊กเกอร์ Food Order บนแพลตฟอร์ม   เรื่องเพลงและดนตรี สำหรับประเทศไทยแล้ว ดนตรีถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของประเทศนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างบทสนทนาออนไลน์ โดย แบล็กพิงก์ เซเลน่า โกเมซ และเลดี้ กาก้า เป็นนักร้องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปี2020 นอกจากนี้ นักร้องสาว คัง ซึล-กี และค่ายเพลงอย่าง SM Town ก็เกาะกระแสเข้ามาด้วย  เพลงไทยก็ไต่อันดับขึ้นมาบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของ  เฟชบุ๊ก เช่น Slot Machine นั้นติดเทรนด์ตลอดปี 2020 ขณะที่แฮชแทกที่ไวรัลในปีนี้ยังรวมไปถึง #เจนนี่ได้หมดถ้าสดชื่น และ #ลิลลี่ได้หมดถ้าสดชื่น ด้วย  ผู้เป็นตำนาน หลายคนใช้  เฟชบุ๊ก เป็นพื้นที่เพื่อรำลึกผู้ที่จากไปแต่ยังทิ้งความทรงจำไว้เป็นตำนานบนโลกใบนี้ การเสียชีวิตของโคบี้ ไบรอันต์ เป็นหัวข้อที่มีการพูดถึงมากที่สุดบน  เฟชบุ๊ก ในปีนี้ทั่วโลก โดยโพสต์และ Stories 3 อันดับแรกมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ การจากไปอย่างกระทันหันของนักแสดงหนุ่ม แชดวิก โบสแมน ก็ถือเป็นอีกเรื่องน่าสลดของปี เมื่อมองการสวมบทบาทของเขาในหนัง แบล็คแพนเธอร์ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางสีผิว  การตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนผู้ใช้งาน  เฟชบุ๊กได้ร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าในปี 2020 นี้ โดยมีผู้คนกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลกร่วมบริจาคเงินกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่าในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือว่าเป็นการระดมเงินช่วยเหลือครั้งที่ใหญ่ที่สุดของเฟชบุ๊ก.- สำนักข่าวไทย.

ดีป้านำเสนอการศึกษารูปแบบใหม่

กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. ดีป้านำเสนอการศึกษารูปแบบใหม่นายกรัฐมนตรีย้ำพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนเดินหน้าขับเคลื่อนการยกระดับกำลังคนของประเทศ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นายณัฐพลนิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) และคณะนักเรียนร่วมออกบูธนิทรรศการ เพื่อนำเสนอผลงานการศึกษาไทยยุค 4.0 ที่มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. 2561-2564 โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองของประชากรทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ผู้พิการ และทุกระดับความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง ผ่านการส่งเสริมการสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Manpower) รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชากรทั่วไป (Digital Citizen) นายณัฐพล กล่าวว่า ต้นแบบการศึกษาไทยในยุค 4.0 พร้อมกันนี้ ยังได้พัฒนากำลังคนและทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนใน 3 กระบวนการหลัก ได้แก่ Reskill หรือการเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากร โดยมุ่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง Upskill หรือการยกระดับคุณภาพและความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านดิจิทัลที่อยู่ในอุตสาหกรรม และ New Skill หรือการเพิ่มทักษะใหม่ด้านดิจิทัลสำหรับวัยเรียนและผู้สูงอายุ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต “การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลแก่โรงเรียนได้ดำเนินการไปแล้ว 210 โรงเรียน โดยประเมินว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นแหล่งผลิตนักเรียนและเยาวชนมากกว่า77,000 คน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะครูไปแล้ว 3,811 คน ซึ่งครูกลุ่มนี้จะสามารถส่งต่อความรู้ให้แก่นักเรียนไม่น้อยกว่า 234,000 คน พร้อมกันนี้ ยังได้บูรณาการการทำงานกับพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์ กูเกิล ฯลฯ ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม CodingThailand.org ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน อีกทั้งสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปแล้ว 17 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวไม่น้อยกว่า100,000 คนในปี 2565” ผู้อำนวยการใหญ่  ดีป้า กล่าว สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ และนักเรียนที่ร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย INFOGRAPHIC THAILAND (บริษัท ไลค์ มี จำกัด) จัดแสดงเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ช่วยในการฝึกอบรมพนักงาน ทำให้พนักงานได้ลงมือฝึกปฏิบัติผ่านโลกเสมือนจริงในสถานการณ์จำลองหลากหลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการฝึกปฏิบัติจริง ปัจจุบันนำไปใช้ในการฝึกอบรมช่างไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงแล้วกว่า 200 คน พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะผลิตชิ้นงานด้าน VR, AR (Augmented Reality) และอื่น ๆ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเรียนรู้ และลดความเสี่ยงจากการฝึกปฏิบัติจริง อาทิ VR training เรื่องการทำ CPR หรือ AR แสดงวิธีการช่วยชีวิตเบื้องต้น เป็นต้น Vonder (บริษัท วอนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด) จัดแสดง Vonder Go เครื่องมือช่วยประเมินผลการเรียนรู้ในห้องเรียนผ่านรูปแบบเกมตอบคำถาม โดยคุณครูสามารถสร้างคำถามให้นักเรียนแข่งขัน หรือร่วมมือกันตอบคำถาม โดยมีระบบจับเวลา และวัดผลอย่างละเอียดเมื่อจบเกม ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่า ช่วงต้นปี 2564 จะเปิดให้คุณครูใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั่วประเทศ ผู้แทนนักเรียนจากโรงเรียนชลประทานวิทยา รองชนะเลิศอันดับสองในการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2562 แสดงการจำลองการแข่งขันหุ่นยนต์ซูโม่ผ่านการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ให้ดันหรืองัดฝ่ายตรงข้ามให้ตกจากสนามแข่งขันภายในเวลาที่กำหนด โดย โรงเรียนชลประทานวิทยา ผลิตนักเรียนที่มีทักษะด้าน Coding และ Robotics จำนวนกว่า 5,000 คนตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตจะสร้างโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยเปิดให้นักเรียนและผู้ปกครองจากโรงเรียนอื่นมีโอกาสพัฒนาทักษะด้าน Coding และRobotics ได้-สำนักข่าวไทย.

กสทช.ขยายความร่วมมือการยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน

กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. กสทช. จับมือเพิ่มเติมกับ ทีโอที ดีแทค ไตรเน็ต สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตบูโรต่อยอดพัฒนาระบบ Mobile ID  หรือบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า   ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แทนบัตร” หรือMobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาสำนักงาน  โดย ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ได้แก่ กรมการปกครอง  กรมการขนส่งทางบกสำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัดบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำระบบ “แทนบัตร” หรือMobile ID นี้ ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และวันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วที่จะขยายการทำงานร่วมกันเพิ่มเติมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด สถาบันคุ้มครองเงินฝากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อทำการทดสอบทดลองในระยะ Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถให้ประชาชนร่วมทดลองการใช้งานในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 กสทช. ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้าและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาการกำหนดมาตรฐานของการให้บริการในระยะทดสอบทดลองนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งาน Mobile ID ในระยะทดสอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี2564 นายณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TOT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การร่วมโครงการนี้ TOT จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า TOT สามารถใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วยและมีความเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของ TOT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น เช่น การซื้อ SIM Card การย้ายค่ายเบอร์เดิมโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์ นายชารัด เมห์โรทรา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าดีแทคสนับสนุนรัฐบาล และ กสทช. ในการเริ่มพัฒนา “การยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล” ให้ประสบความสำเร็จและใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาเพื่อความมั่นใจในบริการดิจิทัลของภาครัฐและเอกชน ดีแทคได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) Mobile ID หรือ “แทนบัตร” เพื่อเข้าร่วมในช่วง Sandbox ทดสอบเทคนิค และพัฒนาระบบต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรอื่น และนำเสนอหลักการสำคัญ เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันระบบ Mobile ID ให้ใช้งานได้สมบูรณ์ในบริการต่าง ๆ เพื่อผู้ใช้งานจำนวนมาก และพัฒนาระบบจนมั่นใจในการรักษาทุกธุรกรรมออนไลน์ให้ปลอดภัย  ภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจของดีแทคที่มุ่งสู่ “Digital first” เรามองเห็นโอกาสมากมายสำหรับการให้บริการดิจิทัลที่สะดวกเพิ่มขึ้น และไว้ใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูลแก่ลูกค้าของเรา ระบบ Mobile ID จะช่วยให้ลูกค้าดีแทคสามารถลงทะเบียนซิมใหม่หรือรับบริการธุรกรรมอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล การใช้ระบบMobile ID จะช่วยลดงานที่ซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตนอีกด้วย นางสาวกมลวรรณ ศีลาภิรัติ  รองผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า DPA เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาDigital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือก ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของ DPA ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การร่วมโครงการนี้ DPA จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับMobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า DPA สามารถใช้บริการของ DPA ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอทราบข้อมูลต่างๆผ่านช่องทางออนไลน์ของ DPA และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป นายถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทย ซึ่ง Mobile ID นับเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับใช้ยืนยันตัวตนแบบไร้สัมผัส ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่  New Normal ของคนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเชื่อมต่อกับ   Mobile ID ของสำนักงาน กสทช. เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในตลาดทุนและประชาชนให้ทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ให้ตลาดทุนเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน “SET…Make it Work for Everyone” ทั้งนี้ในระยะแรกจะเป็นการ อำนวยความสะดวกสำหรับการให้บริการเปิดบัญชีลงทุน และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทย โดย Mobile ID จะสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของเครดิตบูโร ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆในการให้บริการกับลูกค้าของเครดิตบูโร การร่วมโครงการนี้ เครดิตบูโร จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับMobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้าของเครดิตบูโรสามารถ ใช้บริการ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอตรวจสอบเครดิตสำหรับรายย่อย และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป-สำนักข่าวไทย.

1 6 7 8 9 10 51
...