พุทพงษ์แจงสภาดำเนินคดีกับคนใช้ออนไลน์ผิดกฎหมายเพราะจำเป็น

กรุงเทพฯ 27 ต.ค. พุทธิพงษ์ แจงสภาฯ จำเป็นบังคับใช้กฎหมายกับผู้ใช้โซเชียลที่กระทำผิด ระบุ พบผู้ชุมนุมบางส่วนแสดงออก และใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำร้ายทำลายสถาบันหลักของประเทศ ไม่ได้น่ารักย้ำ รัฐบาลขอให้ใช้โซเชียลเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อภิปรายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาชี้แจงประเด็นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียว่า  รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เนื่องจากในโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ดี รวดเร็ว ทันสมัย แต่เนื้อหาในโซเชียลมีเดียในวันนี้มีความหลากหลาย  ซึ่งมุมหนึ่งของผู้ชุมนุม ก็พบว่ามีการใช้โซเชียลมีเดีย ที่มีเนื้อหากับสิ่งที่แสดงออกรุนแรง มีการใช้คำพูด ยุยง ปลุกปั่นทำร้ายทำลายสถาบันหลักของประเทศทั้งใช้ถ้อยคำหยาบคาย  ไม่ได้น่ารัก แม้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลจะตั้งอยู่ในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยก็มีกฎหมายไทยที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย “”รัฐไม่ได้ไปล่วงเกินสิทธิของใครเลย ทุกคนจึงยังใช้สื่อโซเชียลได้อย่างอิสระ ทั้ง 300,000 URLs นั้น ดำเนินคดีจำนวน 2,000 กว่าราย เพราะดูคนที่มีความตั้งใจและละเมิดข้อกฎหมายจริง ๆ  วันนี้ทั้งเกือบ 3,000 คดีอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เราไม่ได้นิ่งเฉย และดำเนินการทางกฏหมายอย่างเคร่งครัด “ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าว  นายพุทธิพงษ์  กล่าวอีกว่า เรื่องการปิดกั้นสื่อ  ขอชี้แจงว่าหลายสื่อมีเจตนาที่เผยแพร่ภาพข่าวที่ทำร้ายจิตใจประชาชนคนทั้งประเทศ มีความตั้งใจที่จะจาบจ้วง ใช้คำพูด ใช้การอภิปราย ใช้การปราศรัย ถ่ายทอดออกไป ที่ไม่ได้ เป็นประโยชน์หรือ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คนใดคนหนึ่งเลย เราเป็นคนไทยด้วยกัน เคารพกฎหมายเดียวกัน เมื่อทำผิดต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ตนเองยังถูกต่อว่าด้วยซ้ำว่า ทำน้อยไป ทั้งหมดที่ดำเนินคดี หรือสื่อที่ส่งให้ศาล อาศัยกระบวนการยุติธรรม ขออำนาจศาล ไม่ได้ใช้ความรู้สึกของรัฐมนตรี ไม่ได้ใช้ความรู้สึกของรัฐบาลเลย แต่อาศัยคำสั่งศาล  ร้อยละ 80 ประชาชนส่งมาให้ และเจ้าหน้าที่รวบรวมส่งศาลใน 48 ชั่วโมง เมื่อมีคำสั่งศาลจึงส่งให้แพลตฟอร์ทราบ รัฐจำเป็นต้องดำเนินการโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ สื่อทุกแขนงยังนำเสนอข่าวได้เต็มที่ เพียงแต่ขอให้อยู่ในข้อกฎหมาย หากมีเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมาย  ถ้าไม่ตั้งใจก็ขอให้ดำเนินการลบออก หากไม่ลบออกก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างไรก็ตาม รัฐมีจุดประสงค์ อยากให้การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นที่ที่ปลอดภัย สะอาด เป็นที่ที่ทุกคนสามารถ แสดงความ คิดเห็นของตนเองได้  เพียงแต่ต้องไม่หยาบคาย ไม่กระทำผิดกฎหมาย และต้องยืนอยู่บนหลักที่เรายึดมั่น ยึดถือบนมาตรฐานเดียวกัน   ยืนยันว่ารัฐบาลทำตามกฎหมาย -สำนักข่าวไทย.

“พุทธิพงษ์” เผยพบมีความพยายามป่วนเว็บ กสทช.ดีอีเอส แต่ตั้งรับได้

กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – รมว.ดีอีเอส สั่งเฝ้าระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐเข้ม เผยพบความพยายามป่วนเว็บกสทช. – กระทรวงดีอี ด้วยการเข้าถึงเพิ่มขึ้นจำนวนมากแต่ยังรับมือได้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มผู้เรียกตัวเองว่ากลุ่มไซเบอร์ทรีฟิงเกอร์ประกาศจะโจมตีเว็บไซต์สารสนเทศภาครัฐว่า ตนได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้วตั้งแต่ช่วงเช้าซึ่งกระทรวงไม่ได้มีความห่วงกังวลกับประกาศดังกล่าว แต่ไม่ได้ประมาทหรือนิ่งนอนใจจึงได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่ถูกระบุว่าจะมีการโจมตี และให้ตรวจสอบประกาศดังกล่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่ โดยกระทรวงได้มอบหมายให้ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จากการเฝ้าระวังเว็บไซต์สารสนเทศของหน่วยรัฐ ทำการเฝ้าระวังซึ่งผลการเฝ้าระวังพบว่ามีความผิดปกติบางจุดในบางช่วงเวลาในเว็บไซต์ของบางหน่วยงาน เช่น พบว่าเว็บไซต์ของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการสะดุดในระยะเวลาสั้นๆ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ส่วนเว็บไซต์ของกระทรวงมีเครื่องมือที่ใช้เฝ้าระวังตรวจสอบพบว่ามีความพยายามเข้าสู่เว็บไซต์ของกระทรวงอย่างผิดปกติในช่วง12.00-13.00 น.โดยมีความพยายามเข้าสู่เว็บไซต์เข้ามาจำนวนมากผิดปกติหลายเท่า เพื่อทำให้เว็บไซต์เข้าถึงได้ใช้และอาจจะทำให้เกิดการล่มได้แต่อย่างไรก็ดีด้วยการเฝ้าระวังและการเตรียมการจึงไม่ทำให้เว็บไซต์ของกระทรวงเกิดความเสียหายและยังให้บริการได้ตามปกติ สำหรับการเฝ้าระวังในช่วงนี้คงจะมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษต่อเนื่องต่อไป ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นเรื่องปกติที่มีสถานการณ์ทางการเมือง จะมีการดำเนินการในลักษณะที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นการทำจริงและการขู่  “มันสะท้อนกว่าโลกเราเปลี่ยนไป เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ระบบสารสนเทศจะมีไว้เฉพาะการใช้งานเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่ได้ระบบเฝ้าระวังก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ การเตรียมการเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเตรียมการรับมือตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้สามารถผ่อนหนักเป็นเบาและทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงมาก”-สำนักข่าวไทย.

กสทช.คุมเข้มความปลอดภัยเว็บสารสนเทศหลังถูกขู่โจมตี

กรุงเทพฯ 26 ต.ค. กสทช. กำชับดูแลระบบสารสนเทศหลังมีกลุ่มประกาศโจมตีเว็บระบบสารสนเทศหน่วยงานรัฐ พร้อมเร่งตรวจสอบข่าวลือกันแพร่เฟคนิวส์ ผู้สื่อข่าวรายงานตามที่มีผู้เรียกตัวเองว่าเครือข่ายนักรบไซเบอร์เพื่อประชาธิปไตยหรือ Cyber 3 Fingers ประกาศที่จะทำการโจมตีเว็บไซต์ระบบสารสนเทศของรัฐเพื่อเป็นการตอบโต้การใช้กำลังกับเยาวชนและนิสิตนักศึกษาและกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลาออกจากตำแหน่ง โดย โดยในประกาศได้มีสัญลักษณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกระทรวงดีเท่าเพื่อนเศรษฐกิจและสังคมกองทัพบกและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกสทช. ได้รับทราบประกาศดังกล่าวแล้วและไม่มีสั่งการกำชับให้ดูแลระบบสาระสนเทศรวมถึงการตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏว่าเป็นความจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเผยแพร่ข่าวลวงที่กำลังมีความพยายามสร้างข่าวลือในด้านต่างๆมากมายในสื่อโซเชียลในขณะนี้ ทั้งนี้ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติใดใดเกิดขึ้น-สำนักข่าวไทย.

กระทรวงดีอีเอสประสานตำรวจทลายเว็บพนันออนไลน์

กรุงเทพฯ 23 ต.ค. ศปอส.ตร. ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้ารวบ2 เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์พื้นที่สงขลา เงินหมุนเวียน 250 ล้าน จากนโยบายในการปราบปรามและติดตามผู้กระทำความผิดทางออนไลน์ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปิดตัว “เพจ อาสาจับตาออนไลน์” เป็นช่องทางสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์-เว็บผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหา การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายโดยใช้วิธีออนไลน์ มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง  พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ศปอส.ตร.) มีความห่วงใยประชาชนผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเหล่านี้  จึงมีนโยบายกำชับทุกหน่วย ทำการสืบสวน จับกุม ปราบปรามการกระทำผิดในลักษณะนี้อย่างจริงจัง เพราะถือได้ว่าได้สร้างความเสียหาย ทั้งด้านความมั่นคง สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ หรือ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง  โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.พันธนะ   นุชนารถ  ผบก.สส.สตม. เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ร่วมกับ พล.ต.ต.นภันต์วุฒิเลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 /หน.ชุดปฏิบัติการ ศปอส.ตร. ชุด 3เพื่อประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม(Anti-Fake News Center)  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดฯ และดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการพนันออนไลน์                   ตาม พ.ร.บ.การพนันพ.ศ.2478 , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550และที่แก้ไขเพิ่มเติม     เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ศปอส.ตร. ได้ทำการสืบสวน ตรวจค้น 2 จุดจุด 1 กำลังเข้าค้นตามหมายศาลจังหวัดสงขลาที่ 100/2563 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2563 เข้าตรวจค้น บ้านเลขที่ 386/91 ม.6 ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ซึ่งเป็นเครือข่ายเว็ปไซต์พนันออนไลน์urobet99.net  เปิดทำการนับแต่ พ.ค.63 มีเงินทุนหมุนเวียน 50 ล้าน ผลการตรวจค้น ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนัน, ชักชวนให้ผู้อื่นเล่นการพนันออนไลน์พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด พร้อมของกลาง ซีพียูคอมพิวเตอร์ จำนวน 5 เครื่อง  คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค จำนวน 2 เครื่อง โทรศัพท์ จำนวน 2 เครื่อง สมุดบัญชีจำนวน 8 เล่ม  เงินสด จำนวน 514,600 บาท จากนั้นได้ทำการประสานยื่นขอปิดกั้น เว็บไซต์เครือข่าย urobet99  จุด2 นำกำลังเข้าค้นตามหมายศาลจังหวัดสงขลา ที่ 98/2563 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2563 เข้าตรวจค้นอาคารเลขที่ 297 ถ.นิพันธ์สงเคราะห์ 1 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาซึ่งเป็นเครือข่ายเว็ปไซต์พนันออนไลน์ imi6g เปิดทำการนับแต่มิ.ย.63 มีเงินทุนหมุนเวียน 200 ล้านบท ผลการตรวจค้น ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดให้มีการเล่นพนัน, ชักชวนให้ผู้อื่นเล่นการพนันออนไลน์พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด พร้อมด้วยของกลาง คือ ซีพียูคอมพิวเตอร์ จำนวน 7 เครื่อง จอคอมพิวเตอร์ จำนวน 40 เครื่อง  ซิมการ์ด โทรศัพท์ ประมาณ 200 ชิ้น  อุปกรณ์เร้าเตอร์ 7 เครื่อง กระดานไวท์บอร์ดจดชื่อพนักงาน 1 แผ่น ระบุพนักงาน 22 คน และสมุดจดตารางเวรพนักงาน 1 เล่ม ปัจจุบันพบประชาชนและเยาวชนตกเป็นผู้เสียหายจากการเล่นพนันออนไลน์จำนวนมาก จึงขอเตือนประชาชนหรือผู้โพสต์สนับสนุนเชิญชวนเล่นพันนออนไลน์ อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.การพนัน มาตรา 12 ชักชวน หรือโฆษณาให้มีการเล่นการพนัน โดยผิดกฎหมาย – จำคุก 3 เดือน ถึง 3 ปี ปรับ 500- 5,000 บาท

ดันวิจัยอาหารไทยฮาลาลสำเร็จรูป

กทม. 22 ต.ค.63 – วช. วิจัยอาหารไทยฮาลาลและอาหารไทยมังสวิรัติสำเร็จรูป ตอบรับไลฟ์สไตล์นักเดินทางผู้นับถือศาสนาอิสลาม และกลุ่มที่นิยมทานมังสาวิรัติ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนากระบวนการผลิตอาหารไทยฮาลาลและอาหารไทยมังสวิรัติสำเร็จรูป สำหรับผู้สูงอายุและผู้นับถือศาสนาอิสลาม โดยสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านโครงการวิจัยอาหารไทยมังสวิรัติและอาหารไทยฮาลาลสู่ตลาดโลก ดร.พิศมัย ศรีชาเยช นักวิจัยฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองไทย ได้รับประทานอาหารไทยที่มีรสชาติถูกต้อง รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากมีโอกาสรับประทานอาหารไทยที่ต่างประเทศจะทราบว่า มีรสชาติที่ต่างออกไปจากรสชาติเดิมที่ถูกต้อง โดยเน้นอาหารฮาลาลและอาหารมังสวิรัติเพราะได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งสองประเภท ผลจากงานวิจัยได้พัฒนาอาหารสำเร็จรูปที่ผู้บริโภคสามารถฉีกซองรับประทานได้ทันที โดยบรรจุอยู่ในถุงรีทอร์ท สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้นาน 1 ปี โดยยังคงรสชาติเช่นเดิม และสามารถบรรจุในถ้วยหรือถาดพลาสติก แต่จะใช้เวลาในการฆ่าเชื้อนานกว่าการบรรจุในถุงรีทอร์ท ทีมวิจัยได้เลือกพัฒนากระบวนการผลิตอาหารไทย 8 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น อาหารไทยฮาลาล 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แกงเผ็ดเป็ดย่าง พะแนงเนื้อ ข้าวหมกไก่ และไก่สะเต๊ะ และอาหารไทยมังสวิรัติ 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แกงเขียวหวานหมี่กึง แกงมัสมั่นโปรตีน ผัดไทยมังสวิรัติ และต้มข่าเห็ด ในส่วนของคุณค่าทางโภชนาการ […]

จับมือหัวเว่ย เพิ่มทักษะดิจิทัลให้แรงงานไทย

กรุงเทพฯ 22 ต.ค. – กระทรวงแรงงาน จับมือหัวเว่ย สร้างแรงงานดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศยุค 4.0  นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับ บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือสูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานด้านดิจิทัล รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคตและประเทศไทย 4.0 นางนฤมล กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และให้ความสำคัญการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อม รองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจใหม่สอดคล้องกับภารกิจหลักของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือให้มีความรู้และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รัฐบาลมีแผนในการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา หนึ่งในนั้นคือ อุตสาหกรรมดิจิทัล และให้โอกาสกับแรงงานกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่แรงงานผู้พิการกว่า 2.8 ล้านคน ยังมีผู้พิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแล และจำเป็นต้องได้รับการฝึกอาชีพเพื่อประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งทักษะทางดิจิทัลจะช่วยแรงงานผู้พิการได้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะนำไปขยายผลและจัดโครงการให้ความรู้แก่แรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไปเพื่อที่จะกระตุ้นทั้งเศรษฐกิจและสังคมให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนพร้อม ๆ ไปกับการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 นายอาเบลเติ้ง ประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ยประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า จะร่วมกันสร้างโอกาสการเรียนรู้และจัดการฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะแรงงานรวมไปถึงการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (ReSkill) และการยกระดับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น (UpSkil) เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะพร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานช่วยลดอัตราการว่างงานเพิ่มรายได้แรงงานไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น พัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่งเพิ่มจํานวนแรงงานที่มีทักษะสูงให้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 หัวเว่ยเชื่อว่าแรงงานที่แข็งแกร่งและมีทักษะสูงโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไอซีที จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลได้สำเร็จ ทั้งนี้ได้มีการมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพเสริมสาขาการติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G รุ่นแรก นอกจากนี้ยังตั้งเป้าฝึกอบรมให้กับบุคลากรฝึกของกรมจำนวน 120 คนและฝึกอบรมออนไลน์ให้แก่บุคคลทั่วไปจำนวน 3,000 คนซึ่งภายหลังการฝึกอบรมครบตามข้อกำหนดผู้จบหลักสูตรจะได้รับวุฒิบัตรรับรองทักษะความรู้ที่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการสมัครงานและยกระดับการประกอบอาชีพในอนาคต .-สำนักข่าวไทย

บริการส่งของออนไลน์น้องใหม่บุกตลาดขายของออนไลน์

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. “ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส” รุกหนักตลาดอีคอมเมิร์ซต้นน้ำแบบมาร์เก็ตเพลสดันธุรกิจเติบโตกว่า 600% คาดสิ้นปีกวาดรายได้รวมแตะ 600 ล้านบาท นายสฐีรณัฐ ลาภไกวัล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส  กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องกว่าร้อยละ 35  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาคโลจิสติกส์ โดยเฉพาะภาคขนส่งด่วนเติบโตตามอย่างมีนัยยะสำคัญ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ตลาดขนส่งพัสดุจะมีมูลค่ามากถึง 66,000 ล้านบาท ชิปป์สไมล์ เซอร์วิส ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจออฟไลน์แบบครบวงจร หรือระบบโปรแกรมหน้าร้านเสมือนร้านสารพัดงานบริการ จึงได้เร่งพัฒนา และขยายธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ภาพรวมของตลาด ชิปป์สไมล์ ฯ  ปรับแผนธุรกิจใหม่หันมาเน้นทำการตลาดแบบต้นน้ำในมาร์เก็ตเพลส ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะไปอยู่ในมาร์เก็ตเพลส ทั้งหมดโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเอ็นเตอร์ไพร์ส และSMEs โดยวางคอนเซ็ปต์ให้แบรนด์เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญสิ้นปี 63 นี้บริษัทฯคาดการณ์จะสามารถมีรายได้รวมถึง 580 ล้านบาท และจะมียอดพัสดุรวมทั้งปีทะลุ 20 ล้านชิ้นหรือโตกว่า 600% หากเทียบจากปีที่ผ่านมา(ปี 2562) ที่มียอดพัสดุเพียง 2.5 ล้านชิ้น และมีรายได้อยู่ประมาณ […]

ดับบลิวเอชเอเดินหน้ามุ่งเศรษฐกิจดิจิทัล

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ดับบลิวเอชเอ หนุนรัฐเร่งพัฒนา ‘เศรษฐกิจ ดิจิทัล’​ ชูจุดเด่นอุตสาหกรรมไทย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในปัจจุบันได้หยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทางบริษัทฯ มองว่าเรื่องของดิจิทัลกว้างมากเพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยปัจจุบันสมองคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเท่ากับสมองของคนทั้งโลก แต่เมื่อมองการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีในประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาภาคเกษตรที่ไม่สามารถทิ้งได้  นางสาวจรีพร กล่าวต่อว่า สินค้าเกษตรของไทยถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปได้ทั่วโลก ต้องหันกลับมาดูว่าการพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้จริงหรือไม่เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี ส่วนการช่วยเหลือเรื่องภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่สามารถช่วยเหลือได้มากนัก มองว่าถึงเวลาที่ภาครัฐต้องนำดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อน และภาพใหญ่ที่รัฐต้องหันมาดูแลคือเรื่องสุขภาพ (เฮลแคร์) อย่าให้เป็นแค่โครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราซัคเจอร์) ซึ่งเรื่องนี้และทุกๆ เรื่องเอกชนพร้อมประสานความร่วมมือขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาครัฐทั้งสิ้น  นางสาวจรีพร กล่าวว่า ในอนาคตไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนประเทศ โดยต้องหันกลับมามองว่าเราจะทำให้จุดแข็งเป็นจุดแข็งตลอดกาลได้อย่างไร ซึ่งในเบื้องต้นรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว ทั้งในเรื่องของการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตลงพื้นที่ต่างๆ แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของการกระตุ้นด้านการลงทุนมองว่าที่เขตพัฒพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)​ ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐคิดเรื่องผลกำไรตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งภาครัฐควรเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องขาดทุนก่อนโปรเจ็ค​ที่ต้องการพัฒนาถึงจะเกิด  “รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน ลดการใช้เอกสารที่เป็นรูปแบบกระดาษ เปลี่ยนมาเป็นทำข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น อีกทั้งต้องพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนี้ยังมีบุคคลที่เชี่ยวชาญจำนวนน้อยอยู่ รวมถึงต้องดูแลเรื่องค่าขนส่งโลจิสติกส์​ ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมทำแพลตฟอร์มช่วยเหลือช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในเรื่องนี้เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งให้ถูกลง”นางสาวจรีพร กล่าว-สำนักข่าวไทย.

สดช.เล็งเพิ่มส่วนแบ่งเทนดิจิทัลร้อยละ11

กรุงเทพฯ 21 ต.ค.สดช. ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่ง ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ เป็นร้อยละ 11 หลังอันดับความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้น1 ระดับ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า หน่วยงานมีภาระกิจสำคัญ ได้แก่ 1. การทำเรื่องความปลอดภัยการขับเคลื่อนดิจิทัล ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล การพัฒนากำลังคน รัฐบาลด้จิทัล และการสร้างความเชื่อมั่น 2.เป็นเลขาของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการ 5จี และ3.กองทุน ซึ่งกองทุนมีให้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นมานานแล้ว จึงมีหน่วยงานตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ เพราะมองว่าไม่มีทางที่จะมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเห็นการเริ่มเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน อาทิ หลายส่วนราชการพัฒนามาให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องไปรับบริการผ่านสาขาตามสถานที่ต่างๆ เท่านั้น โดยมองว่าดิจิทัลจะสร้างคุณค่าและประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับคนที่รู้เท่าทันและใช้ประโยชน์ได้ นางวรรณพร กล่าวว่า ประเทศไทยเหมาะที่จะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นของตัวเอง มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือนำมาทำให้เกิดการเชื่อมต่อกระบวนการ และทำงานได้เร็วขึ้น มองว่าการเชื่อมต่อกระบวนการเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่เศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดรายได้มหาศาลในประเทศไทย โดยได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ5จี ได้หารือกันในส่วนของวิธีการเดินทางของ 5จีต่อไป หลังจากมีการประมูลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ให้บริการ (โอเปอร์เรเตอร์) จะต้องนำคลื่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งความแข็งแรงของประเทศไทยอยู่ในภาคการเกษตร และเกษตรกรกว่าร้อยลั 80อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยหน่วยงานได้ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในการประเมินกระบวนการทำงาน อาทิการทำแปลงผัก ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีแดดส่องหรือปริมาณน้ำมากในส่วนใดบ้าง จึงจะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ โดยจะจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปพัฒนาสู่การทำปัญญาประดิษฐ์ต่อไป ซึ่งการลงทุนโครงข่าย 5จี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องลงทุนสูง แต่รัฐก็ลงทุนและร่วมมือกับผู้ให้บริการต่อไป ซึ่งโครงการเหล่านี้แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะสามารถเพิ่มรายได้มากขี้น และลดจำนวนแรงงานคน นางวรรณพร กล่าวว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (IMD) ล่าสุดประเทศไทยมีอันดับปรับเพิ่มขึ้นมา 1 อันดับ จากอันดับที่ 40 มาอยู่ในอันดับที่ 39 ซึ่งเป็นผลจากความเร็วอินเตอร์เน็ตปรับขึ้นมาดีขึ้น เพราะมีการส่งเสริมเน็ตประชารัฐ และด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทำให้การส่งเสริมนำดิจิทัลไปใช้ในหัวเมืองต่างๆ ปรับขึ้นมาดีขึ้นกว่า8 อันดับ ทำให้เห็นว่า การทำของประเทศไทยถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะประเทศอื่นในสากล ให้ความยอมรับว่าประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตอยู่ในอันดับที่ดีขึ้น โดยในอนาคตคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยที่แบ่งสัดส่วนมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11 ซึ่งเป็นการประเมินในช่วงที่ยังไม่ได้เกิดการระบาดโควิด-19 แต่หลังมีการระบาดเข้ามา ก็มองว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9-10 โดยเชกเตอร์แรกที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้มากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมการค้า และท่องเที่ยว ตามลำดับ  “ในฐานะภาครัฐ มีการมองการพัฒนาในทุกส่วนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรากหญ้า ซึ่งมีศูนย์ดิจิทัลชุมชนกว่า 2,200 แห่งทั้วประเทศ ในปี 2563 ได้งบประมาณมาพัฒนาศูนย์ 250 แห่ง ดูแล 3 ปี ปี 2564 อีก 250 แห่ง และปี 2565 อีก 270 แห่งเฉลี่ยจังหวัดละ 10 แห่ง โดยศูนย์ดิจิทัลชุมชนจะมีคอมพิวเตอร์ให้บริการ และมีจัดโซนสตูดิโอไว้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถถ่ายรูป และนำรูปประกอบการจำหน่ายสินค้าด้วย เป็นการร่วมมือกับทั้งระหว่างรัฐเองและเอกชนด้วย” นางวรรณพร กล่าว นางวรรณพร กล่าวว่า ภาครัฐพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยอุตสาหกรรมอวกาศจะต้องขยายเพิ่มเติม นอกเหนือจากดาวเทียม แต่หมายถึงดาวเทียมระพับล่าง ที่ทำเรื่องวิเคราะห์ และวิจัย เพื่อจัดเก็บข้อมูลได้ ในส่วนของข้อมูล (เดต้า) มองว่าข้อมูลในส่วนของภาครัฐ เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ทุกกระทรวงจะต้องจัดทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงจัดประเภทข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องถูกจัดกลุ่มว่า สามารถเปิดเผยได้ หรือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งจะต้องแยกอีกว่าเป็นความลับขั้นใด เพื่อให้จัดกลุ่มข้อมูล และใช้งานร่วมกันได้ แต่การจัดเก็บข้อมูลขะต้องมีความปลอดภัยสูงที่สุด เพื่อนำไปสู่การทำศูนย์ข้อมูล (เดต้า เซ็นเตอร์) ซึ่งขณะนี้มีต่างชาติหลายประเทศ ที่ต้องการเข้ามาทำเดต้า เซ็นเตอร์ใยประเทศไทย ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ จะต้องย้อนกลับไปที่คนว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้หรือไม่ เพราะหากมีเทคโนโลยี มีข้อมูลแล้ว แต่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง โดยปัญหาของภาครัฐคือ ในระยะเริ่มต้นจะต้องหาวิธีในการทำให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดใช้งานร่วมกันได้ให้ได้ก่อน เพื่อไม่ให้แหล่งการเก็บข้อมูลกลายเป็นสุสานข้อมูลในอนาคต-สำนักข่าวไทย.

ซีกรุ๊ปหนุนรัฐเข้าเศรษฐกิจดิจิทัล

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ซีกรุ๊ปขอเป็นส่วนช่วยเร่งให้ประเทศไทยมี ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ เกิดเร็วขึ้น นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea Group (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ การีน่า (Garena) แอร์เพย์ (Airpay) และช้อปปี้ (Shopee) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า เศรษฐกิจจิทัล เป็นวาระการประชุมระดับโลก (global agenda) ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศให้ความสำคัญ และเรื่องนี้อยู่กับเรามานานมากแล้ว แต่อาจไม่ได้มีความเข้าใจดีเท่าที่ควร จนมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ เพื่อให้เห็นความสำคัญของดิจิทัล ว่ามีความสำคัญมากเท่าใด โดยในแง่ของประเทศไทย เศรษฐกิจดิจิทัลมีการพูดถึงมานานแล้ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ มองว่ามีความเหมือนกันตรงที่คนไทยมีความพร้อม เรื่มมีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญ ในการเริ่มประเมินว่าจะนำดิจิทัลเข้ามาพัฒนาในแง่องค์กร หรือในแง่อุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเชื่อว่าหลายประเทศก็เห็นตรงนี้เช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันในส่วนของความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ไม่เท่ากัน รวมถึงการสนับสนุนและผลักดันของรัฐบาลก็มีความแตกต่างกัน รวมถึงจุดขายและจุดเด่นของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และประเทศท่องเที่ยว ทำให้ต้องมองว่า ต้องหาวิธีในการนำเทคโนโลยีเข้ามาผูกกับอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดประโยชน์ในแง่ของภาพรวม ซึ่งทุกประเทศจะแตกต่างกันในจุดนี้ “บริษัทฯ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มคนรุ่นใหม่ พบว่า ผู้ที่ไม่เคยสั่งอาหารออนไลน์ก็หันมาสั่งอาหารออนไลน์ร้อยละ 35 ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ไอแพด หรือแท็ปเล็ต เพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าร้อยละ 40 โดยมีการสำรวจว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นหรือไม่ ซึ่งพบว่าจากผลสำรวจกว่าร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถาม บอกว่าแม้จะผ่านช่วงล็อกดาวน์ หรือพ้นการระบาดโควิด-19 แล้ว แต่พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ หรือการอยู่ในโลกออนไลน์ จะยังคงดำเนินการและใช้งานอยู่ตามปกติ สะท้อนให้เห็นว่าคนบางส่วนมีความพร้อมในการขยับเข้าไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่พูดถึงกันตอนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องมี และทุกคนต้องทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องความสวยงามหรือหรูหราอีกต่อไป” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว นางสาวมณีรัตน์ กล่าวว่า การจะไปให้ถึงดิจิทัลเนชั่นได้ มีความท้าทายอยู่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การหาวิธีทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเท่าเทียมกันในทุกบุคคล ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มเมืองเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด หรือในพื้นที่ห่างไกล ต้องหาวิธีทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ถือเป็นเกมที่มีความท้าทายมาก และ 2.การหาวิธีทำให้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้น สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด มองว่ากลุ่มคนต้องการเห็นความท้ายทายเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงระบบการศึกษา และตัวบุคคล ที่จะต้องร่วมมือกันในการหาวิธี ทำให้ความท้าทายเหล่านี้กลายเป็นจริงให้ได้ ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นแพลตฟอร์มให้บริการสินค้าอินเตอร์เน็ต ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยผลักดันหรือเป็นหนึ่งในตัวเร่งได้ อาทิช้อปปี้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ จะหาวิธีทำให้คนค้าขายสินค้าออฟไลน์ ปรับมาขายสินค้าออนไลน์ได้เพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับไปรษณีย์ไทย และกระทรวงดีอีเอส ในการจัดทำแคมเปญเพื่อกระตุ้น และช่วยเหลือผู้ขายสินค้า ให้สามารถขายสินค้าได้ในต้นทุนที่ถูกลง ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยขายสินค้าออนไลน์ ก็จะเข้าไปให้องค์ความรู้ และฝึกฝนให้สามารถขายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่มีได้ นางสาวมณีรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร และผู้ขายในต่างจังหวัดต่างๆ จะหาวิธีในการนำกลุ่มคนเหล่านี้ เข้ามาขายสินค้าในโลกออนไลน์เพิ่มเติม สิ่งที่เร็วที่สุดและทำได้ในวงกว้างมากที่สุดคือ การร่วมมือกับภาครัฐอาทิ การร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้นำสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ปลูกหรือผลิตเอง มาขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ตั้งเป้าหมายในปี 2563 จะฝึกทักษะเกษตรกรให้ได้ 1,000 ราย และสามารถนำสินค้าต่างๆ มาขายบนช้อปปี้ได้ โดยหากเทียบประเทศไทยกับต่างชาติ อาทิ อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่ต้องยกเป็นกรณีศึกษา เพราะมีประชากรในประเทศกว่า 250 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ จึงมีความน่าสนใจอยู่แล้ว แต่หากเทียบกับประเทศที่แข่งขันกับไทยอย่างชัดเจน คือ เวียดนาม แม้จะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น แต่ยังมีบางด้านที่ล่าช้ากว่าไทย ประเทศไทยจึงยังมีความน่าสนใจอยู่มาก ประกอบกับคนไทยก็มีลักษณะพร้อมเรียนรู้ มีการตอบรับรวดเร็ว ชอบก็คือชอบ ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ องคก์กรส่วนใหญ่จึงอยากเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย “เมื่อสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว จะทำอย่างให้สามารถใช้งานเป็น เรื่องการพัฒนาทักษะดิจิทัล และการสร้างความคุ้นชิน เป็นเรื่องที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญมาก เพราะต้องการเป็นส่วนช่วยผลักดันให้มีการสร้างบุคคลที่มีทักษะดิจิทัลเกิดขี้นกว่า 10 ล้านคนภายใน 10 ปี ซึ่งในแง่ของการสร้างทักษะดิจิทัล เพื่อสร้างอาชีพ บริษัทฯ ก็ทำงานร่วมงานกับสถาบันการศึกษา 7 แห่งในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับนักศึกษาที่จะจบมา สามารถได้เรียนรู้งานจริงตั้งแต่การเรียน เพื่อให้จบมาแล้วมีความพร้อมในการทำงานทันที ซึ่งมองว่าเป็นหลักที่จะช่วยสร้างบุคลากร เพื่อสนับสนุนแรงงานในโลกธุรกิจ” นางสาวมณีรัตน์ กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ปณท.เดินทำแพลตฟอร์มตู้แดง

กรุงเทพฯ 21 ต.ค. ไปรษณีย์ไทยลั่นเชื่อมโลกการสื่อสาร ลุยแพลตฟอร์มตู้แดงแรงฤทธิ์ยกระดับการจัดส่งดูแลประชาชน นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ“รัฐ-เอกชนพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ว่า คนไทยยังไม่มีการเข้าถึงเทคโนโลยีมากนัก วัดได้จากการส่งอีเมล์มีเพียงร้อยละ 15เท่านั้น  ในเรื่องนี้ ปณท จึงได้เข้าเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกเก่า หรือการสื่อสารที่จับต้องได้ และโลกใหม่ หรืออิเล็กทรอนิกส์เมลล์ที่มีการยืนยันการส่งที่ชัดเจน ปัจจุบันหลายฝ่ายอาจมองว่า ปณท หันมาส่งวัสดุที่เป็นกล่องเยอะ เพราะไม่อยากให้ค่าแสตมป์ 3 บาทแพง แต่เนื้อแท้ ปณท อยู่ทั่วประเทศ จึงมียุทธสาตร์ที่รู้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งถือเป็นทักษะพิเศษที่ ปณท มีและสามารถปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกดิจิทัลได้ นายก่อกิจ กล่าวว่า ปณท เชื่อมต่อการขนส่งทั่วประเทศ การดำเนินงานในช่วงโควิด-19 ปณท ได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ส่งของถึงหน้าบ้าน ถึงแม้จะไม่มีกำไรแต่ก็ต้องช่วยกันในภาวะเช่นนี้ แต่สิ่งที่คนอาจลืมไป ปณท ยังขายแสตมป์ ที่สามารถยืนยันการส่งจดหมายได้ในกรณีมีการฟ้องร้องสามารถใช้ยืนยันได้ในชั้นศาล เพราะปณท อยู่ในสหภาพไปรษณีย์ระหว่างประเทศ หรือยูพียู เป็นบุคคลที่ 3 ที่สามารถยืนยันข้อมูลให้ได้ ซึ่งเนื้อแท้ของไปรษณีย์ไทยเป็นคนกลางที่เชื่อมการสื่อสารทั้งแบบที่จับต้องได้ และการสื่อสารผ่านเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน ปณท ได้ทำระบบจัดการเอกสารดิจิทัล (ทีดีเอช) ผ่านแพลตฟอร์ม ตู้แดงแรงฤทธิ์ ที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทดแทนการจัดส่งแบบเดิม เพื่อบริการที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ ได้จ้างที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการแล้ว  นายก่อกิจ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) แสดงให้เห็นว่ามีประชน กว่าร้อยละ 85 ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการส่งเมลแบบอิเล็กทรอนิกส์เมลไม่ได้ ดังนั้น ปณท ยังต้องเป็นตัวเชื่อมในเรื่องของการสื่อสารของทั้งระบบออนไลน์ และออฟไลน์อยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าการสื่อสารไม่ขาดตอน ถือเป็นนิยามใหม่ของไปรษณีย์ไทย หากเอกชนอยากจะเข้าต้องจ่ายเงินเข้ามาไม่สามารถเข้ามาดึงข้อมูลแบบฟรีๆ ได้ ทั้งนี้ หากในกรณีคนรับอีเมล ไม่อ่านเกิน 3 วัน ไปรษณีย์ไทยจะปริ้นข้อมูล เพื่อนำข้อมูลไปส่งถึงบ้าน และยืนยันว่าไม่มีการเปิดอ่านก่อนผู้รับ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับการส่งจดหมายตามปกติ นายก่อกิจ กล่าวว่า การขับเคลื่อนหลังจากนี้ ปณท มีบริษัทลูก คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ที่มีลักษณะการทำงานแบบจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง จึงได้จัดทำแพลตฟอร์มระวางว่าง ที่เปรียบเหมือนตลาดกลางในการขนส่งสินค้าโดยให้ใช้ฟรี แต่ถ้าต้องการให้ไปรษณีย์ไทยดูแลเพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือเรียกว่ารูปแบบพรีเมียม ซึ่งหัวใจหลักของระวางว่างคือช่วยกลุ่มคนตัวเล็กให้มีรายได้เพิ่มเติมจากการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด โดยเพิ่มรายได้ในส่วนขากลลับที่ปกติจะตีรถเปล่ากลับให้สามารถขนส่งสินค้ากลับมาด้วยได้ และช่วยให้คนซื้อมีโอกาสได้เลือกการขนส่งที่มีราคาที่ถูกลงอีกด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดทำหลักการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากผ่านการอนุมัติจะเสนอขอเงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กองทุนดีอี) ต่อไป-สำนักข่าวไทย.

1 18 19 20 21 22 51
...