กรุงเทพฯ 25 ก.พ.- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินหน้าเร่งผลักดันกฎกระทรวงฯ กำหนดความเร็วยานพาหนะใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลักดันนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวงให้สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรในปัจจุบัน ตลอดจนความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยในทุกการเดินทางของประชาชน
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งรัดดำเนินการให้ร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะ สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยภายในต้นเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีแผนการดำเนินงาน (Timeline) ดังนี้ ภายหลังจากที่มีการประชุมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2564) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอความเห็น และข้อเสนอในการปรับปรุงร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะดังกล่าว ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 14 วัน
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะพิจารณาและเสนอความเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ กลับมายังกระทรวงคมนาคม ภายใน 7 วัน เพื่อให้กระทรวงคมนาคมยืนยันร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะฯ กระทรวงคมนาคม จะดำเนินการพิจารณาตรวจสอบและยืนยันความเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ตามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และแจ้งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบ ภายใน 7 วัน ภายหลังจากแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ภายใน 5 วัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะลงนามในกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะฯ ส่งกลับไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 7 วัน
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคมได้พยายามผลักดันนโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์บนถนนทางหลวง โดยพิจารณาจากความปลอดภัยเป็นสำคัญ ซึ่งต้องพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพ และสภาพการใช้พื้นที่ ตลอดจนการอยู่อาศัย ซึ่งพบว่าสามารถปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดของรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ทั้งนี้ เฉพาะพื้นที่ที่มีความปลอดภัยทางกายภาพ ซึ่งจะต้องเป็นถนนที่มีมาตรฐานสูงขนาด 4 ช่องจราจรขึ้นไป ไม่มีจุดตัดหรือจุดกลับรถเสมอระดับถนน มีการแบ่งทิศทางจราจรอย่างชัดเจน และมีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) โดยกำหนดความเร็วขั้นต่ำสำหรับช่องจราจรขวาสุดไว้ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายกันในช่องทางที่รถวิ่งด้วยความเร็ว พร้อมทำการปักป้ายกำกับความเร็วตลอดแนวเส้นทางโดยวิศวกรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ในเขตชุมชนหรือเขตโรงเรียน ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. ในบริเวณทางโค้ง ทางแยก หรือทางกลับรถ ป้ายจำกัดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. บริเวณทางตรงซึ่งสามารถทำความเร็วได้ แต่ต้องไม่เกินตามที่ป้ายกำหนด
โดยผู้ขับขี่ต้องปฎิบัติตามกฎจราจรและขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดการเดินทาง
สำหรับรถประเภทอื่นๆ ได้มีการพิจารณาปรับกำหนดความเร็วขึ้นตามความเหมาะสม ทั้งรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. ส่วนรถในขณะลากจูงรถอื่น รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม. รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ส่วนรถจักรยานยนต์กำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ หรือกระบอกลูกสูบรวม 400 CC ขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม. รถโรงเรียนใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. และรถโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม.
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวตอนท้ายว่า ได้มีข้อสั่งการโดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับข้อมูลรายละเอียดที่ปรากฎในร่างกฎกระทรวงกำหนดความเร็วยานพาหนะฯ ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. ให้มีความชัดเจน เข้าใจง่าย ตั้งแต่ในระยะแรกรวมทั้ง อยากให้ช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน ปฏิบัติตามกฎจราจรการควบคุมความเร็ว ที่กฎหมายกำหนด สังเกตป้ายเตือนความเร็วต่าง ๆ ที่ได้กำหนดความเร็วไว้ในช่องทางเดินรถ ที่เหมาะสมแต่ละช่องถนน จะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่นได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย