กรุงเทพฯ 8 ส.ค.-จุดเปลี่ยนหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ กูรูประเมิน กนง. 10 ส.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นการทยอยขึ้นหลังเงินเฟ้อชะลอร้อนแรง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า สัปดาห์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทยที่เกิดขึ้นมาหลายปี สู่จุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติ ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นเท่าไร ไปจบลงที่ตรงจุดไหนในช่วงต่อไปนั้น คงต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ โดยคาดว่าจะขยับขึ้นราว 0.25% โดยมีปัจจัยหลักที่จะเป็นหัวใจสำคัญกำหนดดอกเบี้ยต่อไป คือ แนวโน้มของเงินเฟ้อ ที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องแข่งกันปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา และสำหรับไทยจะเกิดขึ้นในช่วงต่อไปเช่นกัน
ในประเด็นนี้ ต้องถือว่าเป็นข่าวดีที่ไทยกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเงินเฟ้อกำลังแผ่วลงบ้าง โดยในเดือน ก.ค.65 เป็นครั้งแรกของปีที่เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเคยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่ากังวลใจจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เฉลี่ยเดือนละ +0.9% มาตลอดเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) เงินเฟ้อไทยเดือนนี้ลดลงมาที่ 7.61% จาก 7.66% ในเดือนก่อนหน้า แม้จะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังน่าดีใจ
อย่างไรก็ตาม การที่จะวิเคราะห์แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางนั้น ต้องเข้าใจว่า สำหรับธนาคารกลางประเทศต่างๆ แล้ว ที่สำคัญยิ่งกว่าเงินเฟ้อเดือนล่าสุด คือ แนวโน้ม (outlook) ในระยะต่อไปของเงินเฟ้อ เพราะฝันร้ายที่สุดของธนาคารกลาง คือ เอาเงินเฟ้อในระยะยาวไม่อยู่ ซึ่งในประเด็นนี้ จะเอาอยู่ หรือไม่อยู่ มีปัจจัยสำคัญ 4 เรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจะกำหนดแนวโน้มของเงินเฟ้อในช่วงต่อไป ราคาน้ำมันโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะหมวดโลหะ และอาหาร ค่าเงินบาทและอัตราค่าจ้าง โดยเฉพาะราคาค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือน
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินการประชุม กนง. วันที่ 10 ส.ค.65 จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ กนง. มีแนวโน้มที่จะทยอยถอนคันเร่งทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับสูง
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง.อาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 1.00-1.25% ณ สิ้นปี โดยจุดจับตาจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า หากตัวเลขเงินเฟ้อยังเร่งตัวขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีจากการท่องเที่ยว คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง.พิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ ขณะที่อุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อโลกอาจอ่อนแรงลงได้บ้าง ดังนั้น ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพภายนอกประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย