กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – FETCO เตรียมหารือรัฐบาลต่ออายุ-ปรับเกณฑ์ SSF กลางเดือน พ.ย.นี้ ด้าน ตลท. เผยไทยยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ Short Sell แบบเกาหลี ขณะที่ IAA ประเมินเม็ดเงินเริ่มทยอยไหลเข้ากองทุน Emerging Market คาด Turning Point ต้นปีหน้า
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ร่วมกันจัดสัมมนา “โอกาสหุ้นไทย ภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน” ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ.รัชดาภิเษก
โดยหัวข้อ “วิเคราะห์มุมมองการลงทุน ภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน ” มีผู้ร่วมสัมนา ได้แก่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูลประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ที่ต่างเห็นพ้องว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผันผวน การลุงทุนยังต้องติตาม มีปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทอง และน้ำมัน , นโยบายการเงินของ FED ที่อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงอีกระยะหนึ่งหลังภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง นอกจกานี้ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนของรัฐบาลจีน
ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2566 ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และโครงการ digital wallet 10,000 บาท ที่อาจล่าช้าไปถึงเดือน ก.ย.2567 ซึ่งจะส่งผลต่อประมาณการ GDP ในปีหน้า อัตราหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ90.7% และหนี้สาธารณะที่สูงมากในระดับ 61.7% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่น่าจับตามองจากแนวโน้มการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หลังรัฐบาลประกาศเพิ่มฟรีวีซ่าให้แก่รัสเซีย อินเดีย และไต้หวัน หลังประกาศฟรีวีซ่าจีนและคาซัคสถานเมื่อเดือนก่อน
นายกอบศักดิ์ ยังเปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน เดือน ต.ค.2566 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 76.87 ปรับลง 31.5% จากเดือนก่อนหน้าลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือคาดหวังการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด คือความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รองลงมาคือการไหลออกของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ มองว่าการที่นายกรัฐมนตรีมาจากภาคธุรกิจมีความได้เปรียบ และเข้าใจภาคเอกชน เห็นได้จากนโยบายต่างๆและมีการออกไปพบนักลงทุนต่างชาติเพื่อดึงดูดการลงทุนเข้าไทย อย่างไรก็ตาม เตรียมเสนอแนวทางส่งเสริมให้เกิดเงินลงทุนระยะยาว โดยช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ เตรียมเข้าหารือกับรัฐบาล ถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่ออายุกองทุน SFF โดยอาจเสนอเงื่อนไขระยะเวลาแบบเดียวกับกองทุน LTF ซึ่งได้รับความนิยม นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน รวมถึงกองทุนระยะยาว ที่เน้นด้านการศึกษา เยาวชน และผู้สูงอายุ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับตลาด
ด้านนายภากร เปิดเผยว่า SET Index ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ต.ค.2566 เป็นในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วโลก จากความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยังคงตึงเครียดและจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5% โดย SET Index ณ สิ้นเดือนต.ค.2566 หลุดกรอบ 1,400 จุดมาปิดที่ 1,381.83 ปรับตัวลดลง 6.1% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ 47,213 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่องกว่า 15,649 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวมกว่า 171,021 ล้านบาท
ส่วนกรณีช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น IPO ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เกิดจากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่หายไป รวมทั้งกรณีMORE และ STARK ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอดยอมรับว่าอาจป้องกันไม่ได้ 100% แต่เชื่อว่าจะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดได้ยากขึ้น ส่วนการปรับปรุงเรื่อง Short Sell จำเป็นต้องใช้ข้อมูลประกอบหลายด้าน ซึ่งได้มีการดำเนินการมาโดยตลอดร่วมกับ ก.ล.ต. โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการ Short Sell แบบเกาหลี ส่วนกรณี Naked Short Sell ทำไม่ได้แน่นอนเพราะมีข้อกำหนดที่เข้มงวดตาม พ,ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน แรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลกลดลงอย่างชัดเจน และไม่น่ากลับมาเป็นปัญหา ขณะที่แนวโน้ม FED มีโอกาสยุติดอกเบี้ยขาขึ้นที่ระดับปัจจุบันกำไรบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกมีทิศทางดีขึ้น คาดว่าจะปรับสู่ขาขึ้นในปีหน้า ขณะที่เม็ดเงินเริ่มทยอยไหลเข้ากองทุนEmerging Market นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดหุ้นเอเชีย ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสกลับมา Outperform ในปีหน้า โดยมองว่าแม้ตลาดหุ้นปรับลดลง 6% จากสงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส แต่ในระยะต่อไปหากสถานการณ์ไม่บานปลาย จะส่งผลต่อตลาดหุ้นจากนี้ไม่มาก สังเกตได้จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็เป็นปัจจัยกระทบต่อตลาดหุ้นน้อยลง สำหรับตลาดหุ้นไทย ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลมีการปรับตัวและรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังวจากนี้ยังมีนโยบายที่รัฐบาลยังต้องทำอีกหลายเรื่อง มองว่าจะเป็นแรงจูงใจให้แรงซื้อของนักลงทุนกลับมา โดยประเมิน Turning Point ในปีนี้อาจไม่ทัน อาจต้องรอถึงต้นปีหน้า.-สำนักข่าวไทย