กรุงเทพฯ 28 เม.ย.- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยเพดานน้ำมันดีเซลขยับฉุดเศรษฐกิจจะชะลอ 0.2% หากปรับขึ้น 5 บาท/ลิตร กระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ย่อลง 0.5% แนะรัฐหามาตรการหนุนควบคู่ ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันกับภาวะค่าครองชีพ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงกรณีการททอยปรับราคาน้ำมันดีเซล เป็น 32 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพดานไม่เกิน 35 บาท ขณะที่สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้มีโอกาสที่น้ำมันดีเซลจะขยับถึงเพดาน 35 บาทต่อลิตรภายในเดือนมิ.ย.นี้ ดังนั้น การที่ดีเซลแพงขึ้นทุก 1 บาทต่อลิตร ยาวไป 1 ปี เศรษฐกิจจะชะลอ 0.2% ซึ่งหากปรับขึ้น 5 บาทต่อลิตร จะกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จะย่อลง 0.5% โดยหลังจากนี้ หากภาครัฐ ไม่มีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทย ปีนี้ให้ขยายตัวเหลือเพียง 3%
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังคงมองว่า แนวทางสนับสนุนโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 วงเงิน 1,000-1,500 บาทต่อราย มาชดเชยรายจ่ายจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการโควิด จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงปลายปี เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว 3.5% ได้
ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้ปรับตามค่าครองชีพนั้น หากดูให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าปีนี้จะโต 4-5% น่าจะต้องการให้ปรับขึ้น 3-5% เป็นอย่างน้อย ขณะที่มีการเรียกร้องให้ขยับขึ้นไปถึง 492 บาทต่อวัน หากดูจากปัจจุบันที่ 336 บาทต่อวัน จะมีการขยับสูงถึง 10-20% เป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้นายจ้าง ขาดสภาพคล่องแบบทันทีทันใดโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และจะมีการปรับราคาสินค้า เป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค จึงจะต้องนำมาพิจารณาด้วย โดยหลักการที่ดีที่สุด ควรจะยึดตามการพิจารณาไตรภาคีของแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ จากการสำรวจแรงงานไทย กรณีศึกษาที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาทต่อเดือน จำนวน 1,260 ตัวอย่างพบว่าส่วนใหญ่ถึง 99% มีหนี้สิน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาจากการใช้จ่ายประจำวัน มีหนี้บัตรเครดิตและจากที่อยู่อาศัย รวมไปถึงยานพาหนะ โดยภาพรวมจำนวนหนี้สินเฉลี่ย กว่า 2 แสน 1 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.90% เทียบกับปีที่แล้ว ถือเป็นมูลค่าที่สูงขึ้นในรอบ 14 ปี และมี 31.5% ที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะจำนวนหนี้และค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ได้รายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปัญหาหนี้สิน-การใช้จ่าย และความเป็นอยู่ในปัจจุบันแย่ลง
อย่างไรก็ตาม มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จึงอยากให้ภาครัฐ เข้ามาดูแลเรื่องค่าครองชีพ เพราะกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้มีกำลังซื้อมากขึ้น เพราะค่าอัตราค่าแรงในปัจจุบันถือว่าไม่มีความเหมาะสมและไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า
สำหรับกิจกรรมในวันหยุดแรงงาน ส่วนใหญ่แรงงาน เลือกที่จะพักผ่อนอยู่บ้าน ทำให้บรรยากาศปีนี้จะไม่ค่อยคึกคักรองลงมาไปซื้อของ ทานอาหารนอกบ้าน และไปสถานที่จัดงานแรงงาน โดยปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงาน ประมาณ 1,525 ล้านบาท หดตัว 14.9% เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย