กรุงเทพฯ 9 มี.ค.-บอร์ด กพช.เห็นชอบแนวทางฝ่าวิกฤติ “ยูเครน –รัสเซีย” อุ้มดีเซล 30 บาท/ลิตร และบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่วนก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี ) มีแนวโน้มขึ้น 1 บาท/กก. วันที่ 1 เม.ย. หลังกองทุนน้ำมันฯ กรอบ ต้องขยายขอกู้เพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาท พร้อมประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่ม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงผลประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า มีมาตรการรับมือวิกฤติ “ยูเครน –รัสเซีย” แต่ไม่ขอแถลงรายละเอียดลงลึก โดยระบุ นายสุพัฒนพงษ์ พันธูมีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน จะแถลงด้วยตัวเองในวันศุกร์ที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีการแถลงใหญ่มาตรการร่วมมือประหยัดพลังงาน
สำหรับมติ กพช.ในวันนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤติที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมาอุ้มราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร จึงเห็นชอบให้เพิ่มให้กองทุนฯ สามารถกู้เพิ่มได้เป็น 4 หมื่นล้านบาท จากเดิมกู้ได้ 3 หมื่นล้าน โดยจะเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.วันอังคารหน้า ในส่วนของค่าไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไม่เพียงพอต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทน แต่ราคาก็แพงมากจากวิกฤติยูเครน ที่ราคาพุ่งไปถึง 80 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู กพช.วันนี้ จึงเห็นชอบให้ปรับสูตรราคาเชื้อเพลิงราคาก๊าซตลาด POOL GAS ให้นำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ที่นำมาผลิตไฟฟ้าเข้ามาคำนวณร่วมด้วย เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำลง และจากการที่ ครม.ลดภาษีนำเข้าดีเซลและเตาเป็นร้อยละศูนย์วานนี้(8 มี.ค.) เป็นเวลา 6 เดือน ก็ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้ราว 6 สตางค์/หน่วย รวมทั้งเห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศเป็นพิเศษ เป็นเวลา 2 ปี
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง ที่มอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ความเสี่ยงจากวิกฤติยูคเรนและสถานการณ์ในประเทศเมียนมา
กระทรวงพลังงานยังประเมินว่า หากรัสเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันดิบ งดส่งออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ ก็คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบมีโอกาสจะขยับขึ้นไป 200 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่รัสเซียต้องการเห็นราคาแอลเอ็นจี 100 เหรียญ/ล้านบีทียู โดยราคาสูงสุดปีนี้สูงถึง 80 เหรียญไปแล้ว ส่วนราคาแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานย้ำว่า ด้วยสถานการณ์กองทุนไม่มีเงินอุดหนุน ในเดือนหน้าจะเดินหน้าตามแผนคือทยอยขยับราคา 1 บาท/กก. จากตรึงมานาน 2 ปี ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก. เป็น 333 บาท/ถังขนาด 15 กก. ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า บอร์ด กกพ. คงจะต้องนำมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐพิจารณาในการช่วยลดผลกระทบค่า Ft ทั้งการลดภาษีนำมันเตา-ดีเซล และการปรับ Energy Pool Price ฯลฯ ว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบมากน้อยเพียงใดแต่ยอมรับว่าหากสะท้อนต้นทุนจริงค่า Ft งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.65) จะขยับเกิน 16.71 สตางค์ต่อหน่วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า กพช.ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชนบ้านที่อยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้มีการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมายการรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ส่วนโซลาร์ฯ กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร รับซื้อ 1 บาทต่อหน่วย รับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ระยะเวลา10 ปีเช่นกัน
กพช. ยังเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาและได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge ของไทยและหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS – PIP) ในอัตราเท่ากับ 3.1584 US Cents/หน่วย ระยะเวลาโครงการ 2 ปี
และจากปัญหาล่าสุดก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์วันนี้ระหว่างวัน ขยับสูงไปถึง 180 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องประชุมวันนี้ติดต่อกันเป็นวันที่ 3 อุดหนุนดีเซลเพิ่มเป็น 11 บาท/ลิตร จากอัตราอุดหนุนวันนี้ที่ 9.61 บาท/ลิตร เพื่อรักษาราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท .-สำนักข่าวไทย