กรุงเทพฯ 27 ก.พ. – นักเศรษฐศาสตร์เผยขับไล่รัสเซียออกจากระบบ SWIFT ส่งผลต่อธุรกรรมการเงิน ส่งออกน้ำมัน เสียหาย 2.72 ล้านล้านบาท “คริปโทเคอร์เรนซี” กลายเป็นพระเอก ชำระเงินระหว่างประเทศ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า เมื่อประเทศตะวันตกขับไล่รัสเซียออกจากระบบ SWIFT นับว่ามีผลต่อเศรษฐกิจรัสเซีย เพราะต้องพึ่งพารายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจากการขายน้ำมันและพลังงานมากกว่าร้อยละ 40 ของงบประมาณ และคิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ระบบ SWIFT เชื่อมโยงสถาบันการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง ให้บริการมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก หากรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในระบบ SWIFT ได้ ย่อมส่งผลต่อการชะงักงันของการส่งออกและกระทบรายได้จำนวนมาก ทำให้จีดีพีของรัสเซียลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.72 ล้านล้านบาท
การใช้มาตรการคว่ำบาตร ทำให้รัสเซียออกจาก SWIFT เป็นเพียงมุ่งเป้าไปยังธนาคารเป้าหมาย ทำให้ผลกระทบสร้างความเสียหายต่อรัสเซียยังคงอยู่ในวงจำกัด ขณะเดียวกัน รัสเซียอาจไปใช้ระบบ China’s Cross-Border Inter-Bank Payment System หรือ คริปโทเคอร์เรนซี แทน แต่ยอมรับไม่สามารถทดแทนระบบ SWIFT ได้ เพราะอิหร่านเคยถูกปิดกั้นจากระบบ SWIFT ทำให้การค้าต่างประเทศของอิหร่านหายไปกว่าร้อยละ 30
ดร.อนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ด้วยการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีและตลาดการเงินของชาติตะวันตก การยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้นำรัสเซีย ผู้ใกล้ชิดประธานาธิบดีปูติน และการควบคุมการส่งออกสินค้าบางประเภทไปยังรัสเซีย มาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อแรงกดดันทางการเมืองและทางการทหารมากกว่ามาตรการ SWIFT จึงกลายเป็นการทำสงครามแบบผสมผสาน หรือ Hybrid Warfare เพราะมีทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการการเงิน มาตรการโจรกรรมทางไซเบอร์ ได้สร้างความปั่นป่วนในระบบการสื่อสารโทรคมนาคม ความระส่ำระสายในระบบการชำระเงิน จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ มีการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) และปฏิบัติการทางจิตวิทยาอย่างมากมาย มีการสร้างข่าวปลอม ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินมากยิ่งขึ้น
คริปโทเคอร์เรนซี นับว่ามีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซี มีลักษณะของการเงินแบบกระจายศูนย์ ไม่มีศูนย์กลางควบคุม จึงถูกใช้เพื่อรับมือการคว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย และการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเงินให้กองทัพยูเครน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการเกิดฟองสบู่คริปโทเคอร์เรนซีแตก เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อุปสงค์ต่อคริปโทเคอร์เรนซีของรัสเซียและยูเครน ไม่เพียงพอต่อการประคับประคองราคาที่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ในสถานการณ์สงครามเช่นนี้ คริปโทเคอร์เรนซีได้รับความนิยมจะเป็น Stablecoin ผูกกับเงินดอลลาร์ฯ ประชาชนในยูเครนจะถือ Stablecoin มากกว่าเงินสด เนื่องจากจะปลอดภัยกว่า
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถาบันการเงินไทยควรระมัดระวังในการถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของระบอบปูติน เพราะผลประโยชน์ทางการเงินได้ไม่คุ้มค่ากับผลเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นติดตามมา จุดยืนของไทยควรเป็นจุดยืนของการต่อต้านสงคราม ต่อต้านการรุกรานประเทศอื่น และต่อต้านการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สนับสนุนการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน สนับสนุนสันติภาพและการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ไทยควรวางตัวเป็นกลาง เพราะความขัดแย้งและสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีความซับซ้อนมาก และประเทศไทยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากปัญหาดังกล่าว. – สำนักข่าวไทย