ทิมพู 17 เม.ย.- ภูฏาน ประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียใต้กำลังสำรวจลู่ทางที่จะขุดและยกระดับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงาน เพื่อลดปัญหาสมองไหลที่คนมีความสามารถออกไปทำงานในต่างประเทศ
นายอุจวัล ดีพ ดาฮัล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทดรุก โฮลดิง แอนด์ อินเวสเมนต์ (Druk Holding and Investments ) ซึ่งเป็นกองทุนความทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของภูฏาน ที่เป็นกองทุนการลงทุนของรัฐ เปิดเผยว่า ภูฏานเป็นประเทศที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำทั้งหมด ดังนั้นทุกเหรียญดิจิทัลที่ขุดในภูฏานจึงช่วยชดเชยเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เหรียญที่ขุดด้วยกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล บริษัทดรุก โฮลดิง แอนด์ อินเวสเมนต์ ซึ่งบริหารจัดการโรงไฟฟ้าของประเทศได้เพิ่มคริปโทเคอร์เรนซีไว้ในพอร์ตการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากเล็งเห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นการลงทุนเชิงยุทธวิธีและเป็นสิ่งที่จะพลิกโฉมประเทศ
นายดาฮัลกล่าวว่า คริปโทเคอร์เรนซีไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้แก่ไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ยังเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสกุลเงินต่างประเทศ ขณะเดียวกันการฝึกอรมคนหนุ่มสาวชาวภูฏานให้มีความรู้เรื่องบล็อกเชนที่เป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของคริปโทเคอร์เรนซีและปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ จะเป็นการสร้างงานในประเทศ รอยเตอร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ภูฏานซึ่งมีประชากร 800,000 คน กำลังหาทางแก้ปัญหาคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถหลั่งไหลไปทำงานในต่างประเทศ ขณะที่คนหนุ่มสาวในประเทศมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 16.5 ในปี 2567
ภูฏานมีชื่อเสียงเรื่องการใช้ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติหรือจีเอ็นเอช (GNH) เป็นเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ปกติแล้วไม่ได้ถูกรวมไว้ในการชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศอื่น เช่น สันทนาการ สุขภาวะทางอารมณ์ ความยั่งยืน ขณะนี้กำลังศึกษาว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะเข้ามาซื้อเหรียญดิจิทัลสีเขียวของภูฏานหรือไม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายเรื่องการมีมาตรฐานในการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลหรืออีเอสจี (ESG)
นักวิเคราะห์ระบุว่า เป้าหมายของภูฏานที่ต้องการเป็นเมืองหลวงแห่งสกุลเงินดิจิทัลสีเขียวขึ้นอยู่กับความสามารถในการขยายการกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำให้ได้มากถึง 33 กิกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ผลิตได้เพียง 3.5 กิกะวัตต์ ผู้บริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของภูฏานเปิดเผยว่า ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็น 15 กิกะวัตต์ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า.-814.-สำนักข่าวไทย