กระทรวงการคลัง 3 ก.พ. – โฆษกกระทรวงการคลังยืนยันโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 4 ช่วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 70,000 ล้านบาท ช่วงต้นปี 65
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงกรณีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้โครงการคนละครึ่ง เฟส 4 ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะผู้มีรายได้น้อยไม่มีเงินเพียงพอ เติมเงินเข้าไปในแอปฯ “เป๋าตัง” ทำให้นโยบายนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ในส่วนของกระทรวงคลัง มองว่าโครงการคนละครึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก จึงลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการ วันละไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ไม่ได้มีลักษณะของการแจกเงิน แต่เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนส่งต่อกำลังซื้อไปยังผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหาบเร่แผงลอย ให้สามารถมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงถูกผลกระทบจากโควิด-19 มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมากกว่า 1.3 ล้านร้านค้า และประชาชนมากกว่า 26 ล้านคน
โครงการคนละครึ่งเติมเม็ดเงิน 326,000 ล้านบาท เป็นรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในโครงการ ทั้งยังหมุนเวียนต่อเนื่องไปช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การผลิต และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานได้จนถึงปัจจุบัน สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 เริ่มใช้จ่ายแล้วเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2565 คาดว่าจะสามารถเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 69,600 ล้านบาท โดยวันแรกเพียงวันเดียวมีการใช้จ่าย 1,155 ล้านบาท เป็นเงินของประชาชน 585 ล้านบาท และเงินที่รัฐบาลสนับสนุน 570 ล้านบาท
นอกจากการลดภาระการใช้จ่ายของประชาชนผ่านโครงการคนละครึ่งแล้ว กระทรวงการคลังยังได้เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มเปราะบางควบคู่กันไปด้วย เพื่อดูแลและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงผู้ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนให้ได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด
กระทรวงการคลัง ย้ำว่าโครงการคนละครึ่งถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดมาตรการที่รัฐบาลใช้ดูแลเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงช่วยเหลือให้ความสำคัญ สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนการจ้างงานและการช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่าง ๆ คนละครึ่งยังสร้างทักษะความรู้ ต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” อย่างก้าวกระโดด.-สำนักข่าวไทย