กรุงเทพฯ 18 พ.ย. – ธปท. เร่งสอบธนาคารพาณิชย์ กรณีพนักงานธนาคารแห่งหนึ่งลาออกเพราะถูกกดดันให้ต้องขายประกัน ย้ำเป้าขายประกันไม่ใช่ตัวกำหนดชี้วัดผลงาน (KPI) ที่จะทำให้เกิดความกดดันพนักงาน
เกิดเป็นกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียล จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความระบุสาเหตุที่ต้องลาออกเพราะถูกกดดันให้ต้องขายประกัน ล่าสุดทาง ธปท. ออกมาย้ำเป้าขายประกันไม่ใช่ตัวกำหนดชี้วัดผลงาน (KPI) ที่จะทำให้เกิดความกดดันพนักงาน
โดยข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับการ “ลาออก” เนื่องจากการถูกกดดันในระบบการทำงาน จากการรับเป้าขายประกัน ที่สวนกระแสเศรษฐกิจ ทำให้หาลูกค้าซื้อยากมาก จนทำให้พนักงานต้องควักกระเป๋าซื้อประกันกันเอง เพื่อให้ได้ยอดตามเป้าที่ตั้งไว้ ในโพสต์ระบุถึงสาเหตุหนึ่งคือเกิดจาก “นโยบายของผู้บริหารระดับล่าง-กลาง (ที่ไม่ใช่ผู้บริหารสาขา) ที่ต้องการทำผลงานแข่งกันระดับภาค ระดับเขต โดยไม่สนใจว่าผลงานที่ได้มาจะได้มาด้วยวิธีการไหน พร้อมบทลงโทษหากทำไม่ได้ตามนโยบาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ระบุลงในสัญญาจ้างตั้งแต่ต้น แต่…ใช้อำนาจหน้าที่สั่งให้ทำ พนักงานหลายๆ คน อาจจะยอม เพื่อให้มันจบๆ ไป แต่…ครั้งนี้เธอไม่ยอมและจะไม่ปล่อยผ่าน ตัดสินใจลาออก เพื่อแลกกับการทวงคืนความยุติธรรมให้เพื่อนพนักงาน”
ล่าสุดนางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เตรียมตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยไม่ถูกต้องในกรณีดังกล่าวนี้แล้ว พร้อมเน้นย้ำที่ผ่านมา ธปท. มีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ตัวยอดขาย หรือเป้าขายประกัน ไม่ใช่ตัวกำหนดชี้วัดผลงาน (KPI) ที่จะทำให้เกิดความกดดันพนักงาน จนนำไปสู่การเสนอขายที่ขาดคุณภาพและขาดความรับผิดชอบต่อลูกค้า โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ตรวจสอบการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย และได้ลงโทษอย่างจริงจัง โดยได้เปรียบเทียบปรับผู้ให้บริการที่บังคับขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยจำนวน 2 แห่ง ในปี 2561
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่ามีผู้ให้บริการบางแห่งเริ่มกลับมาเน้นการขายประกันภัยมากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุก หรือขายประกันภัยพ่วงกับการให้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับผู้ให้บริการ และเน้นย้ำให้ควบคุมดูแลคุณภาพการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเร่งทำเป้าการขายในช่วงระยะเวลาใกล้ปิดรอบการประเมินผลงาน ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง และพร้อมดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลที่มีความเข้มข้นขึ้นต่อไป
ส่วนเรื่องของปัญหาประกันโควิด แบบเจอ จ่าย จบ วันนี้ นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงเกี่ยวกับ “สถานการณ์วิกฤติจากการรับประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ” ว่ายอดจำหน่ายประกันโควิด-19 ณ 15 พ.ย.64 เบี้ยประกันมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีผู้ป่วยติดเชื้อมากในช่วงที่ผ่านมา จึงมียอดเคลม 35,000 ล้านบาท โดยยอดเคลมต้องใช้เงินกองทุนสัดส่วนร้อยละ 26.5 นับว่าเริ่มเสี่ยงมากขึ้น และคาดว่าสิ้นปี 64 ยอดเคลมขอค่าสินไหมทดแทนแตะ 40,000 ล้านบาท ทำให้ยอดจ่ายเคลมต้องใช้เงินกองทุนสูงถึงร้อยละ 30.2 อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อระบบธุรกิจประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยหลายแห่งใช้เงินสะสมมา 30-40 ปี ขณะนี้ได้นำเงินกองทุนออกมาจ่ายชดเชยสินไหม บางรายต้องกู้เงินมาจ่าย เคลม 5,000-6,000 ล้านบาท หลายรายทุนหมดหน้าตักแล้ว เนื่องจากยอดเคลมเพิ่มเท่าตัว 200-300 เท่าต่อวัน จึงทำให้การจ่ายเคลมล่าช้า แต่ย้ำไม่เบี้ยวจ่ายเงินชดเชย ยอมรับว่าในช่วงปี 63 มียอดซื้อกรมธรรม์ 9 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ย 4,000 ล้านบาท ยืนยันธุรกิจประกันภัยไม่ได้โลภ ไม่มีเจตนาเอาเปรียบผู้เอาประกัน แต่ความเสียหายเพิ่ม 30,000 เปอร์เซ็นต์ ในวิกฤติครั้งนี้ถือว่าหนักมาก
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยยังขอเสนอให้ คปภ. ทบทวนประกาศห้ามยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” เพราะอาจกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในบางรายมีปัญหาได้หากทุนน้อย แต่ธุรกิจประกันส่วนใหญ่ยังเข้มแข็งมั่นคง ยอมรับเอกชนบางรายอาจยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาการยกเลิกกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ เพื่อพยุงให้ธุรกิจประกันอยู่รอดวิกฤติในครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย