กรุงเทพฯ 12 พ.ย. -นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แจงที่ประชุม ไทยฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC –Leaders’ Dialogue) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
นายโรเบิร์ต มิลลิเนอร์ ผู้แทน ABAC ออสเตรเลีย ในฐานะประธาน ABAC กล่าวในที่ประชุม ว่า ที่ประชุมมุ่งการบูรณาการความร่วมมือ การเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์ของโรคโควิด-19 การรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง เสนอให้ APEC กำหนดเป้าหมายร่วมกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวเปิดประชุม ว่า เอเปคพร้อมจับมือ ภาคธุรกิจก้าวไปสู่ภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ นิวซีแลนด์ยังต้องพึ่งพาความร่วมมือจากเอเปค ไม่มีประเทศใดที่จะเอาชนะปัญหาได้เพียงฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ พัฒนาแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม อาทิ ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และสตรีที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และยังไม่เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ
การหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ครั้งนี้ แบ่งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคออกเป็น 5 กลุ่ม ไทยอยู่ในกลุ่มที่ 1 ร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคจากออสเตรเลีย มาเลเซีย และจีนไทเป โดยในการหารือนายโรเบิร์ต มิลลิเนอร์ ผู้แทน ABAC ชิลี มีประเด็นคำถามต่อนายกรัฐมนตรีว่า “โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบที่รุนแรงต่อกลุ่มเปราะบางในสังคม ได้แก่ สตรี ธุรกิจขนาดเล็กและกลุ่มชาติพันธุ์ ABAC เชื่อว่าในการปกป้องรักษาอนาคต เราต้องแก้ไขและปลดล็อกศักยภาพของกลุ่มเปราะบาง ในขณะเดียวกัน เมื่อเผชิญกับภยันตรายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยตระหนักดีว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมายในหลายมิติ การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการก้าวไปสู่อนาคตของเอเปค ปัจจุบันไทยได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 83 ล้านโดส คาดว่าจะครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน และได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าสำหรับปี 2565 ด้วย โดยที่ ไทยในฐานะประเทศหนึ่งใน 12 ประเทศผู้ก่อตั้งเอเปคเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีที่จะวิเคราะห์ว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีความเปราะบางเพียงใด
ในปี 2563 กลุ่มเศรษฐกิจเอเปคทั้ง 21 เขตมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (US$ 53 Trillion) ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกมูลค่า 84.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยมุ่งเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ตั้งอยู่บนหลักก้าวไปสู่ความสมดุลและความร่วมมือร่วมใจ ในฐานะหุ้นส่วน (collaborative partnership) คือหัวใจขององค์รวมของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ เศรษฐกิจ BCG จึงต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งในด้านผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อให้เอเปคเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจที่ผลิตคาร์บอนต่ำ
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมุ่งเพิ่มความพร้อมในการแก้ไขความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อาทิ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 หรือก่อนหน้านั้น ไทยยังได้ตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2035 รวมถึงเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 55 ของประเทศ
ในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ไทยจะพยายามเสนอรายการเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันของเอเปคบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งภาคธุรกิจมีความสำคัญยิ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของเอเปค ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดการของเสีย การพัฒนานวัตกรรม รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชนในการดูแล คุ้มครอง และเยียวยา.-สำนักข่าวไทย