ทำเนียบฯ 28 ก.ย.-ครม.อนุมัติปรับเกณฑ์และเงื่อนไขสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด-19 หนุนการเข้าถึงเงินทุนแบ่งเบาภาระชำระหนี้ประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 ก.ย.64 เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับดำเนินโครงการ 135 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปรับปรุง ได้แก่ วัตถุประสงค์การกู้ ให้ครอบคลุมถึงการลงทุน ขยายและปรับปรุงกิจการ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ จากเดิมที่จะให้สินเชื่อเฉพาะการเสริมสภาพคล่องเท่านั้น
ปรับปรุงระยะเวลาการกู้จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 10 ปี โดยปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี โดยให้รวมถึงลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปก่อนมีการปรับปรุงรายละเอียดครั้งนี้ด้วย โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ดำเนินโครงการ จะประสานติดต่อลูกหนี้เพื่อดำเนินตามขั้นตอนต่อไป
ปรับปรุงเงื่อนไขการชดเชยของรัฐบาล ที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ร้อยละ 100 สำหรับ NPL ไม่เกินร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ จากเดิมที่กำหนดชดเชยร้อยละ 100 สำหรับกรณี NPL ไม่เกินร้อยละ 25 และชดเชยร้อยละ 50 กรณี NPL เกินร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 40
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์และเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้ เพื่อประคับประคองการฟื้นฟูธุรกิจให้สามารถดำเนินการได้ต่อไป รวมถึงช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 ซึ่ง ณ วันที่ 24 ส.ค.64 ธพว.ได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการแล้ว 4,639 ราย เป็นเงิน 8,008 ราย จากวงเงินทั้งโครงการ 10,000 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ 1,992 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย