กรุงเทพฯ 8 ก.ย.-“ศักดิ์สยาม” เปิดแผน “คมนาคม” เบิกจ่ายงบปี 64 วงเงิน 2.27 แสนล้าน อัปเดตโค้งสุดท้าย 11 เดือน ภาพรวมเบิกจ่ายได้ 72.43% วงเงิน 1.65 แสนล้าน คาดสิ้นปีงบฯ เบิกจ่ายได้ 91% มูลค่าวงเงินแตะ 2 แสนล้าน ชี้เหตุโควิด-ร้องเรียน ฉุดเบิกจ่ายหลุดเป้า ฟาก 5 รัฐวิสาหกิจ คาดเบิกจ่ายได้ 88.04%
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ของกระทรวงคมนาคม (งบแผ่นดิน) ผ่านการประชุมทางไกลด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงาน การลงนามในสัญญา เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ของหน่วยงานในสังกัดฯ ให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2564 (8 ส่วนราชการ, 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม จำนวน 227,899.22 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ต.ค. 2563-31 ส.ค. 2564) จำนวน 223,148.68 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้น ส.ค. 2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 165,064.03 ล้านบาท หรือ 72.43% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมได้ประมาณการผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (ก.ย. 2564) กระทรวงคมนาคมจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 91% หรือวงเงิน 207,388.29 ล้านบาท ซึ่งจะมีกันงบประมาณไว้ใช้ในปี 2565 วงเงิน 26,350.32 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายได้มากกว่าปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 12-14% โดยเหตุที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ครบ 100% ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้น สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมถึงการร้องเรียนหลังการประกวดราคา ส่งผลให้การดำเนินการมีความล่าช้าด้วย
สำหรับหน่วยงานส่วนราชการที่เบิกจ่ายได้มากที่สุด คือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ที่ 90.91% หรือวงเงิน 231.82 ล้านบาท รองลงมา คือ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เบิกจ่ายได้ 90.74% หรือวงเงิน 112.28 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เบิกจ่ายได้ 90% หรือวงเงิน 43,887.30 ล้านบาท ส่วนหน่วยงานส่วนราชการที่เบิกจ่ายได้น้อยที่สุด คือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เบิกจ่ายได้ 66.64% หรือวงเงิน 3,784 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในส่วนของงบรายจ่ายลงทุน จำนวน 188,177.30 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ต.ค. 2563-31 ส.ค. 2564) ให้ครบ 100% ซึ่ง ณ สิ้น ส.ค. 2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 132,819.50 ล้านบาท หรือ 72.42% ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร คงเหลือการเบิกจ่ายอีก 55,357.80 ล้านบาท
สำหรับการลงนามในสัญญารายจ่ายลงทุน กระทรวงคมนาคมมีรายการที่จะต้องลงนามในสัญญาในรายการที่จะต้องลงนามในสัญญา จำนวน 9,853 รายการ วงเงินรวม 98,470.53 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุนปีเดียว จำนวน 9,606 รายการ วงเงินปี 2564 รวม 84,241 ล้านบาท (รายการรายจ่ายลงทุนปีเดียว รายการลงทุนผูกพันรายการใหม่ และรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ณ สิ้น ส.ค. 2564 ลงนามในสัญญาแล้ว 9,600 รายการ วงเงิน 84,164.50 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 6 รายการ วงเงิน 76.48 ล้านบาทจะทยอยการลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการ ภายใน ก.ย. 2564 ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของกระทรวงคมนาคมในแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่ รายการรายจ่ายลงทุนผูกพันรายการใหม่ 231 รายการ วงเงินปี 2564 จำนวน 10,609.56 ล้านบาท ลงนามแล้ว 183 รายการ วงเงิน 4,990.04 ล้านบาท และยังไม่ลงนาม 48 รายการ วงเงิน 5,619.52 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายใน ก.ย. 2564จะลงนามเพิ่มอีก 44 รายการ และลงนามไม่ทันใน จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย โครงการของกรมทางหลวง (ทล.) 2 โครงการ คือ 1.สายสามแยกปลาลัง-อ.เหนือคลอง ตอน 1 จ.กระบี่ วงเงิน 120 ล้านบาท
2.สายสามแยกปลาลัง-อ.เหนือคลอง ตอน 2 จ.กระบี่ วงเงิน 140 ล้านบาท, โครงการของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) 1 รายการ คือ ถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ วงเงิน 31.62 ล้านบาท และโครงการของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (สปค.) 1 รายการ คือ โครงการปรับปรุงสถานีภาคพื้นของระบบช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย COSPASS-SARSAT ฯ วงเงิน 60 ล้านบาท
ในส่วนของรายการรายจ่ายลงทุน วงเงิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 16 รายการ (วงเงินปี 2564 จำนวน 3,620 ล้านบาท ลงนามแล้ว 10 รายการ วงเงิน 2,108 ล้านบาท และยังไม่ลงนาม 6 รายการ วงเงิน 1,512 ล้านบาท โดยจะลงนามครบภายใน ก.ย. 2564 ประกอบด้วย โครงการของ ทล. จำนวน 5 รายการ และ ทย. 1 รายการ ได้แก่ 1. สาย บ.น้ำปลีก-บ.หนองผือ ตอน 2 จ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี วงเงิน 200 ล้านบาท 2.สายทางเลี่ยงเมืองเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 220 ล้านบาท 3.สาย อ.สุวรรณภูมิ – ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ วงเงิน 222 ล้านบาท
4.ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 290 กับทางหลวง หมายเลข 304 จ.นครราชสีมา วงเงิน 316 ล้านบาท 5.สายทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออก ตอนแยกทางหลวง หมายเลข 117-บรรจบทางหลวงหมายเลข 225 ตอน 4 จ.นครสวรรค์ วงเงิน 194 ล้านบาท และ 6.งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 360 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2564 (5 รัฐวิสาหกิจ) ภาพรวมวงเงินรวม 37,947.65 ล้านบาท ณ สิ้น ส.ค. 2564 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 28,741.70 ล้านบาท หรือ 75.74% ของวงเงินงบประมาณทั้งปี โดยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถเบิกจ่ายเงินได้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประมาณการผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (ก.ย. 2564) จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 88.04% หรือวงเงิน 33,409.86 ล้านบาท ซึ่งจะมีกันงบประมาณไว้ใช้ในปี 2565 วงเงิน 3,883.33 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย