กาญจนบุรี 20 ส.ค. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขับไล่-รื้อถอน รีสอร์ตแพหรูชื่อดัง ออกจากแม่น้ำแควน้อย ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคแล้ว
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กล่าวว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายรีสอร์ทแพ “ไทรโยคโฟลทเทล” ซึ่งเปิดเป็นที่พักระดับ 5 ดาว 29 ห้อง ห้องอาหาร ห้องรับรอง และสระว่ายน้ำ โดยปลูกสร้างบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ในแม่น้ำแควน้อย เขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ท้องที่บ้านไทรโยคใหญ่ หมู่ที่ 7 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้นายวสันต์ สดใส เจ้าของรีสอรต์แพดังกล่าวยอมรื้อถอนและเคลื่อนย้ายออก หลังจากที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค ปิดประกาศ คำสั่ง ขับไล่ รื้อถอน ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา
การที่นายวสันต์ดำเนินการเองในอันรวดเร็ว ถือได้ว่า เป็นผลดีต่อตัวเจ้าของเองเพราะหากดื้อดึง ไม่ยินยอมรื้อถอนภายในเวลา 30 วัน ตามประกาศคำสั่ง อาจจะถูกดำเนินคดี ในข้อหาฐานฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง ขับไล่ รื้อถอน ตามมาตรา 35 (1) พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท และต้องเสียค่าขนย้ายรีสอร์ทแพให้ทางราชการ 500,000 บาทด้วย โดยเมื่อเคลื่อนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกหมด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยคจะดูแลรักษา ป้องกัน มิให้บุคคลใด นำรีสอร์ทแพ หรือสิ่งอื่นใดมาจอดขวางแม่น้ำแควน้อยในบริเวณดังกล่าวอีก เพื่อรักษาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกไทรโยคใหญ่ ให้มีบรรยากาศตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่งดงามเอาไว้ให้นักท่องเที่ยว
นายนิพนธ์ยังได้กล่าวเตือนไปยังนายทุนเจ้าของโรงแรม รีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศที่ปลูกสร้างบุกรุก ยึดถือ ครอบครองที่ดินหรือแม่น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าว่า แม้อัยการจังหวัด จะมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีอาญายุติไปตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 147 ก็ตาม แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ยังมีอำนาจใช้กฎหมายทางปกครอง ออกประกาศคำสั่ง ขับไล่ รื้อถอนตามพ.รบ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตวป่าได้อีก ซึ่งการขับไล่ รื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสิน หรือสิ่งอื่นใดในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่เป็นเขตสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ไม่มีอายุความ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดีภายใน 10 ปีสามารถ ขับไล่ รื้อถอน สิ่งปลูกสร้าง พืชผล อาสินหรือสิ่งอื่นใดไปให้พ้นจากเขตสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ได้ตลอดเวลาเป็น 1,000 ปี ซึ่งเทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 18918/2555. – สำนักข่าวไทย