นนทบุรี 23 ก.ค.-รัฐมนตรีพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย.64 ยังขยายตัวร้อยละ 43.82 สูงที่สุดในรอบ 11 ปี ย้ำแม้เกิดปัญหาโควิดระบาดแต่มั่นใจการส่งออกครึ่งปีหลังไปขยายตัวได้ เตรียมชง ครม สัปดาห์หน้าเร่งหาทางแก้ไขโรงงานที่ปิดการผลิตจากคนงานติดเชื้อโควิดหวั่นกระทบผลิคสินค้าเพื่อส่งออก พร้อมยังคาดการณ์ส่งออกทั้งปีโตแน่เกินร้อยละ 4
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิถุนายน 2564 ว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่า 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 738,135.34 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 43.82 ถือว่าสูงสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งสินค้าที่มีการขยายตัวมากที่สุดคือ ผลไม้ ขยายตัวร้อยละ 185.10 2.อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัวร้อยละ 90.48 .รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 78.5 .เครื่องจักรกล ขยายตัวร้อยละ 73.13 5.เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 59.82 ผลไม้ที่มีการขยายตัวร้อยละ 185.10 แบ่งเป็นทุเรียนขยายตัวร้อยละ 172 มังคุดขยายตัวร้อยละ 488.26 เป็นต้น
ทั้งนี้การขยายตัวของหมวดสินค้าเกษตร มีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 59.8 ถือเป็นการขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่องและขยายตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีมูลค่าทำรายได้เข้าประเทศ 71,473.5 ล้านบาท โดยเฉพาะยางพารา ขยายตัวร้อยละ 111.9 ผักผลไม้สดและแช่แข็งขยายตัว ร้อยละ110.2 มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 181.5 โดยตลาดในเดือนมิถุนายน มีอัตราการขยายตัวทุกตลาด ตลาดหลักมีการขยายตัวร้อยละ 41.2 ประกอบไปด้วยตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป CLMV และอาเซียน ส่วนตลาดรองมีการขยายตัวร้อยละ 49.5 เช่นตลาดเอเชียใต้อย่าง อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง รัสเซีย แอฟริกา และละตินอเมริกา
สำหรับแผนงานในครึ่งปีหลัง เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์จะจับมือภาคเอกชนทำตลาดในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ และใช้ทีมเซลล์แมนจังหวัดและเซลล์แมนประเทศทำงานร่วมกันใน 130 กิจกรรม ซึ่งล่าสุดมีการสั่งจองสินค้าล่วงหน้ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการเจาะตลาดซาอุดีอาระเบีย ตลาดละตินอเมริกาซึ่งถึงแม้จะไกล ค่าขนส่งแพง แต่ถือเป็นตลาดใหม่ที่จะจับมือกับภาคเอกชนส่งสินค้าในยุคนิวนอร์มอล เช่น อาหารสุขภาพ อาหารคนรุ่นใหม่ อาหารกระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ ไปขายที่นั่น
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในช่วงต่อไปในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยภาคการผลิต เพราะปัญหาภาคการผลิตขณะนี้ คือ บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวมซึ่งจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบเพราะบางโรงงานไม่มีปัญหา ก็ควรเปิดดำเนินงานต่อไป โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือสัปดาห์หน้าได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย