กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – กรอ. ปลื้มผลโครงการจัดระเบียบมลพิษทั้ง 2 เฟส เป็นไปตามเป้า จ่อหารือต่อยอดเฟส 3!
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการ พัฒนาระบบการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งตั้งแต่ปี 2556 และเพิ่งเสร็จสิ้นโครงการทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ในพื้นที่นำร่อง คือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสมุทรปราการ ว่าทั้ง 2 ระยะของการดำเนินงานได้ผลเป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้กับสาธารณะชนในเรื่องของการจัดการมลพิษ และรู้จักแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในแง่ของการเปิดเผยข้อมูล และการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อให้เกิดการส่งเสริมการจัดการโดยสมัครใจ ซึ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้จัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม อันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการ PRTR ทั้ง 2 ระยะ ได้ใช้วิธีการดำเนินงานแบบการสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยถือเป็นการพัฒนาระบบ PRTR ต้นแบบที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยที่ สามารถนำเอาโมเดลการจัดการดังกล่าวไปใช้ในพื้นที่ได้ ซึ่งจากที่ผ่านมามีตัวอย่างของความสำเร็จในเรื่องของการจัดการเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่ทางรัฐบาลเวียดนามได้ประสานเพื่อขอมาดูโมเดลการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามจากผลตอบรับดังกล่าวทาง กรอ.จึงได้มีแนวคิดที่จะต่อยอดการดำเนินโครงการฯในเฟส 3 โดยคาดว่าจะดำเนินการในแนวทางเดิม คือ การสร้างเครือข่าย และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยใช้แนวทางการตรวจสอบสาธารณะ (Public Audit) เป็นตัวต่อยอดการเฝ้าระวัง
“ในส่วนของเฟส 3 อยู่ระหว่างการหารือแนวทางร่วมกันกับ JICA โดยยังเน้นถึงการมีส่วนร่วมของ ภาคประชาชน และการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืนตาม ปัจจัยหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติธรรมาภิบาล ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรม และชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข สอดคล้องตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ที่มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมที่เป็นสุข ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดปัญหา ความยากจน ส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนมีการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดภายในปี 2564 น่าจะมีความคืบหน้า”อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว . – สำนักข่าวไทย