เพชรบุรี 16 ก.ค. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าดำเนินมาตรการป้องกันโรคลัมปี สกินลุกลามเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติ นำร่องที่แก่งกระจาน จ. เพชรบุรีและอุทยานแห่งชาติที่พบการระบาดหนักในพื้นที่ชายป่า
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่ากล่าวว่า เริ่มดำเนินมาตรการป้องกันโรคลัมปี สกินลุกลามจากปศุสัตว์ติดสู่สัตว์ป่า ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนเนื่องจากพบกระทิงในพื้นที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรีติดเชื้อโรคนี้ โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ. เพชรบุรีประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีตรวจสอบรอยต่อเขตป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ปศุสัตว์
ทั้งนี้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะจัดทำอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อที่ติดมากับล้อรถยนต์และฉีดพ่นยาควบคุมแมลงพาหะให้ทั้งเจ้าหน้าที่ ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.2 (เขาสามยอด) เพื่อเป็นการป้องกันความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในพื้นที่ รวมทั้งจะเก็บข้อมูลเก็บข้อมูลสัตว์ป่าตามระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสังเกตอาการป่วย-ตายของสัตว์ป่าและในปศุสัตว์รอบพื้นที่ป่าอย่างเข้มงวด รวมทั้งติดตามสถานการณ์ของโรค สุขภาพ และการทำวัคซีนของปศุสัตว์ รวมทั้งป้องกันแมลงพาหะอย่างเข้มงวด กรณีพบสัตว์ป่าป่วย มีตุ่มที่ผิวหนัง เดินผิดปกติ ให้แจ้งสัตวแพทย์ในพื้นที่หรือหน่วยงานใกล้เคียงเข้าเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์และใช้พื้นที่ชายขอบในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ จัดทำแหล่งอาหารและโป่งเทียมเพิ่มเพื่อป้องกันสัตว์ป่าออกหากินนอกอุทยานฯ ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือประชาชนช่วยเฝ้าระวังการป่วย-ตายผิดปกติของสัตว์ป่าเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยเร็ว
ทางด้านเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีสรุปสถานการณ์การระบาดโรคลัมปี สกินในจังหวัดว่า มีโค-กระบือประมาณ 50,000 ตัว เริ่มพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ปัจจุบันมีสัตว์ป่วยสะสม 4,038 ตัว ตาย 394 ตัว ได้ฉีดวัคซีนให้โค-กระบือแล้ว 2,356 ตัว โดยกำลังเร่งฉีดวัคซีนเพิ่มเติม พ่นยาควบคุมแมลง รวมทั้งรักษาโค-กระบือของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งติดเชื้อลัมปี สกินด้วย
หมอล็อตกล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่พบสัตว์ปาติดเชื้อและไม่มีรายงานพบสัตว์ป่าตายด้วยโรคลัมปี สกินเพิ่ม สำหรับซากกระทิงที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ตายจากการต่อสู้กัน แต่เนื่องจากมีรอยโรคสงสัยว่า ติดเชื้อไวรัสลัมปี สกิน จึงเก็บตัวอย่างผิวหนังส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ให้ผลยืนยันว่า ติดเชื้อจริง ซึ่งจะต้องเร่งควบคุมแมลงพาหะที่จะนำโรคจากปศุสัตว์ที่อยู่รอบป่าอนุรักษ์เข้าสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพิจารณาเลือกพื้นที่ในการสร้างบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อล้อรถ โดยพื้นที่ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เฝ้าระวังโรคเป็นพิเศษนอกจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรีที่พบกระทิงติดโรค ยังรวมถึงแก่งกระจานซึ่งอยู่ใกล้เคียง ตลอดจนเขตอุทยานแห่งชาติที่มีกลุ่มสัตว์กีบได้แก่ กระทิง วัวแดง และควายป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากคือ เขาอ่างฤาไนและป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เขาแผงม้า และห้วยขาแข้ง จากนั้นจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติอื่นๆ ด้วยเนื่องจากพบการระบาดของโรคลัมปี สกินใน 57 จังหวัดแล้ว. – สำนักข่าวไทย