สุรินทร์ 18 มิ.ย. -รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เร่งรัดทุกโครงการคมนาคม ย้ำ!! ให้ทุกหน่วยงานพัฒนาโครงการยึดแนวคิด ดูแลประชาชนให้ “สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว”
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งการลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนางานด้านการคมนาคมขนส่ง ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งด่วน และแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตามหลักยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นความสะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา โดยกระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางน้ำ เช่น โครงการในกำกับของกรมทางหลวง (ทล.) โครงการ ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 226 ตอนลำน้ำชี – ห้วยทับทัน กม. ที่ 171+182 -233+891 ระยะทาง 62.709 กม., 2 โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2077 ตอนสุรินทร์ – ลำดวน – บัวเชด กม. ที่ 2+305 -70+728 ระยะทาง 66.707 กม. แบ่งออกเป็น 9 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ช่วงที่ 4 และช่วงที่ 6 เป็นทางขนาด 4 ช่องจราจร ช่วงที่ 3 ช่วงที่ 5 และช่วงที่ 7 กำลังดำเนินการในปี 2564 ช่วงที่ 2 และช่วงที่ 8 ได้รับงบประมาณปี 2564 ประมาณ 600 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาจากบริษัทผู้รับจ้าง ช่วงที่ 9 เป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร อยู่ระหว่างรอรับงบประมาณปี 2566 เป็นต้น
โครงการโครงข่ายถนนในกำกับดูแลของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โครงการก่อสร้างถนนลาดยาง สาย สร.6052 อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง – บ้านละเอาะ อำเภอเมืองสุรินทร์ มีความยาวตลอดเส้นทาง 25,600 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการเริ่มสัญญาวันที่ 29 มกราคม – 4 กรกฎาคม 2564 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 157 วัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินการก่อสร้างในช่วง กม. 7+530.000 – 11+230.000 มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งประชาชนรับทราบและเห็นชอบโดยไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้การสัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนน
โครงการในกำกับ กรมเจ้าท่า การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างอีสานเขียว ท่องเที่ยวปลอดภัย วิถีใหม่ชุมชน” โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 และการดำเนินโครงการขุดลอกต่างตอบแทน เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและทำให้มีพื้นที่ที่สามารถรองรับน้ำได้ โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า ลงไปดูแลแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะริมตลิ่ง ที่อำเภอท่าตูม ตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล) ในพื้นที่ขอให้กรมเจ้าท่าเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งตรวจเยี่ยม สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสุรินทร์ ของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวมการรับ – ส่งผู้โดยสาร และรับ – ส่งพัสดุภัณฑ์ ตั้งอยู่บนถนนจิตรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีการเตรียมความพร้อมด้านยานพาหนะและพนักงานขับรถยนต์เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยลดค่าครองชีพผู้โดยสารที่มีรายได้น้อยด้วยการจำหน่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยนายศักดิ์สยาม ได้สั่งการ ให้การดำเนินโครงการต่างๆยึดแนวคิดในเรื่องของความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว การติดตามโครงการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post RGP) เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและเป็นการสร้างความปลอดภัยทางท้องถนน ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้ราคายางพาราที่ปรับสูงขึ้น ทำให้สามารถชะลอการนำยางพารามาใช้ในโครงการ RFB ได้ แต่ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานยังคงต้องดูแลติดตั้งเครื่องกั้นในทุกถนนที่มีความจำเป็น เพื่อลดอุบัติเหตุรุนแรง รวมทั้งขอให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทมีโครงการถนนสวยงามอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งโครงการ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในช่วงเวลาปกติและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล ทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และมีความปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย